Boxing-6

ตำนานมวยสากลคนไทย

Boxing-6

หลังจากเมื่อวันที่ 27 ก.พ. 61 ชาวไทยมีความสุขกันถ้วนหน้า เมื่อได้ต้อนรับการเดินทางกลับมาถึงประเทศไทยของนักชกขวัญใจ “เจ้าแหลม” ศรีสะเกษ นครหลวงโปรโมชั่น หลังคว้าแชมป์จากสภามวยโลก สหรัฐอเมริกา ได้สำเร็จ ก็ทำให้อดคิดถึงอดีตนักชกขวัญใจคนไทยไม่ได้ เราจึงอยากพาทุกท่านย้อนอดีตไปพบ 5 นักมวยที่ยังอยู่ในใจคนไทยเสมอ

โผน กิ่งเพชร

Boxing-2

คนแรกเลยคือ โผน กิ่งเพชร ซึ่งเป็นแชมป์โลกชาวไทยคนแรกในประวัติศาสตร์ โดยการชิงแชมป์โลกของโผนเมื่อวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2503 ณ เวทีมวยลุมพินี ได้กระทำต่อหน้าพระพักตร์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทั้งสองพระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรด้วย

โผน กิ่งเพชร มีชื่อจริงว่า มานะ สีดอกบวบ ชื่อเล่น แกละ เกิดเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2478 เป็นชาวหัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ มีรูปร่างผอมบาง มีช่วงขาที่ยาว ถนัดขวา เขาฝึกและขึ้นชกมวยครั้งแรกที่หัวหินบ้านเกิด ฝีมือดีเป็นที่ลือลั่น กระทั่งขึ้นชกมวยสากลครั้งแรกประมาณ พ.ศ. 2498 จากนั้นการชกของโผนก็ดีขึ้นเรื่อยๆ ฝีมือพัฒนาจนได้ชิงแชมป์โลก

Boxing-7

และเป็นแชมป์โลกชาวไทยคนแรกในรุ่นฟลายเวต ของสถาบันเดอะริง (The Ring) รวมทั้งเป็นแชมป์โลกชาวไทยคนแรกที่ได้ครองแชมป์โลกถึง 3 สมัย แต่ด้วยปัญหาส่วนตัว ทำให้โผนติดสุราจนการชกตกต่ำลง กระทั่งเสียแชมป์ไปและไม่มีโอกาสชิงแชมป์คืนได้อีก

โผนเสียชีวิตลงในวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2525 ด้วยโรคเบาหวานและโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ในวัยเพียง 47 ปี และมีการสร้างอนุสรณ์สถานของเขาที่หัวหินบ้านเกิด หลังจากที่เขาเสียชีวิตไปแล้ว 10 ปี

Boxing-8

อย่างไรก็ตาม โผนถือเป็นตำนานของวงการมวยสากลคนหนึ่งของไทย โดยวันที่ 16 เมษายน ซึ่งเป็นวันที่โผนชิงแชมป์โลก ได้ถูกกำหนดให้เป็น “วันนักกีฬาไทย”

 

เขาทราย แกแล็คซี่

Boxing-9

แค่เอ่ยชื่อมา แฟนๆ คงจำกันได้เป็นอย่างดี เพราะ “เขาทราย แกแล็คซี่” นับเป็นนักมวยที่ได้รับความนิยมสูงสุดตลอดกาล ในสมัยที่ยังชกมวยอยู่ เขาได้รับฉายาจากแฟนมวยว่า “ซ้ายทะลวงไส้” จากหมัดซ้ายที่หนักหน่วง และการชกลำตัวที่ยอดเยี่ยม เป็นนักมวยที่ไปชกป้องกันตำแหน่งนอกประเทศหลายครั้ง และแทบทุกครั้งของการชก เขาทรายจะได้รับชัยชนะอย่างงดงาม ความนิยมในตัวเขาทรายมีถึงขนาดที่ว่า เมื่อใดที่เขาทรายชก ถนนในกรุงเทพฯ จะว่าง เพราะทุกคนรีบกลับบ้านไปดูเขาทราย

เขาทราย แกแล็คซี่ เป็นอดีตนักมวยแชมเปี้ยนโลกชาวไทย รุ่นซูเปอร์ฟลายเวต (115 ปอนด์) ของ สมาคมมวยโลก (WBA) เป็นแชมป์โลกคนที่ 9 ของไทย มีชื่อจริงว่า สุระ แสนคำ เกิดวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2502 ที่บ้านเฉลียงลับ ต.นาป่า อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์ มีพี่ชายฝาแฝดคือ เขาค้อ แกแล็คซี่ ซึ่งเป็นอดีตแชมป์โลก รุ่นแบนตัมเวต WBA โดยมีระยะเวลาที่เป็นแชมป์โลกคู่กัน ทำให้เป็นแชมป์โลกคู่แฝดรายแรกของโลกอีกด้วย

เขาทรายหัดชกมวยไทยครั้งแรกตอนอายุ 14 ปี ชกมวยไทยอาชีพครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2515 ใช้ชื่อว่า “ดาวเด่น เมืองศรีเทพ” แต่ไม่ประสบความสำเร็จ จึงเบนเข็มมาชกมวยสากล และชนะน็อกด้วยหมัดซ้ายติดต่อกัน 5 ครั้ง ชนะคะแนนอีก 1 ครั้ง หลังจากนั้นเขาก็พัฒนาฝีมือมาตลอดจนกระทั่งได้เป็นแชมป์โลก

หลังครองตำแหน่งแชมป์โลก เขาทรายสามารถป้องกันตำแหน่งได้ถึง 19 ครั้งติดต่อกัน นับเป็นสถิติโลกสูงสุดในรุ่นซูเปอร์ฟลายเวตถึงปัจจุบัน และเป็นสถิติสูงสุดอันดับ 3 ในการป้องกันแชมป์โลกทุกรุ่นในขณะนั้น มีสถิติป้องกันตำแหน่งโดยชนะน็อก 16 ครั้ง ชนะคะแนนเพียง 3 ครั้ง และได้ประกาศแขวนนวมในฐานะ “แชมป์โลกผู้ไม่เคยแพ้ใคร” ตลอดระยะเวลาที่ครองตำแหน่ง 7 ปี

Boxing-10

ในปี พ.ศ. 2542 เขาทรายได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติ “World Boxing Hall of Fame” จากสมาคมมวยโลก โดยได้รับการบรรจุชื่อในหอเกียรติยศนักมวยโลก ณ เมืองคานาสโตต้า รัฐนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ด้วยสถิติการชก 50 ครั้ง ชนะ 49 ครั้ง โดยชนะน็อกถึง 43 ครั้ง นอกจากนี้ เขายังได้รับรางวัลอื่นๆ อีกมากมาย จนอาจเรียกว่าเป็นนักกีฬาชาวไทยที่ได้รับเกียรติยศมากที่สุดก็ว่าได้

นอกจากนี้ ยังเป็นนักมวยรายแรกที่เป็นจุดเริ่มต้นของประเพณีการมอบทองและของรางวัล ก่อนการชกบนเวทีด้วย และหลังจากแขวนนวม เขาทรายได้ออกอัลบั้มเพลงมาชุดหนึ่ง เพื่อเป็นการขอบคุณแฟนๆ ที่ให้การสนับสนุน ปัจจุบันเขามีกิจการค้าขายหลายอย่าง และรับงานแสดงในวงการบันเทิงเป็นครั้งคราว ส่วนในวงการมวย มีเป็นเทรนเนอร์ให้กับนักมวยอยู่บ้าง

 

สามารถ พยัคฆ์อรุณ

Boxing-11

เรียกได้ว่าในยุคนี้หลายคนก็ยังไม่ลืม “สามารถ พยัคฆ์อรุณ” อดีตนักมวยหนุ่มหน้าตาดี ผู้มีเสียงเหน่อเป็นเอกลักษณ์ เจ้าของฉายา “พยัคฆ์หน้าหยก” ชื่อจริงของเขาคือ สามารถ ทิพย์ท่าไม้ เกิดเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2505 เป็นชาว ต.คลองเขต อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา เริ่มหัดมวยไทยตั้งแต่อายุ 11 ขวบ โดยใช้ชื่อว่า “สามารถ ลูกคลองเขต” มีพี่ชายแท้ๆ เป็นอดีตนักมวยไทยชื่อดังด้วย นั่นคือ ก้องธรณี พยัคฆ์อรุณ

สามารถชกมวยไทยครั้งแรกที่ จ.ชลบุรี เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2517 จากนั้นก็ตระเวนชกมวยฝึกฝีมือมาเรื่อยๆ ถือเป็นนักมวยชั้นเชิงแพรวพราว สายตาดี ชกได้สนุก ชนะใจคนดู และประสบความสำเร็จอย่างมากในการชกมวยไทย

โดยได้แชมป์ของสนามมวยเวทีลุมพินีถึง 4 รุ่นด้วยกัน ได้แก่ รุ่นพินเวต (105 ปอนด์) รุ่นจูเนียร์ฟลายเวต (108 ปอนด์) รุ่นจูเนียร์แบนตัมเวต (115 ปอนด์) และรุ่นเฟเธอร์เวต (126 ปอนด์)

Boxing-12

ต่อมา เขาเริ่มหันมาชกมวยสากลอาชีพ ชิงแชมป์โลกครั้งแรกในรุ่นซูเปอร์แบนตัมเวต (122 ปอนด์) ของสภามวยโลก (WBC) โดยเอาชนะน็อกแชมป์โลกไปได้ในยกที่ 5 กลายเป็นแชมป์โลกคนที่ 10 ของไทย หลังจากนั้น เขาก็ได้รับการกล่าวขานถึงเป็นอย่างมาก เพราะสามารถพิงเชือกโยกหลบหมัดของผู้ท้าชิงได้ด้วยสายตาอันว่องไวนับสิบๆ หมัด และชกสวนหมัดตรงเข้าปลายคางไปเพียงหมัดเดียว ก็เอาชนะน็อกผู้ท้าชิงไปได้อย่างน่าประทับใจ

หลังจากแขวนนวม สามารถได้ออกอัลบั้มเพลง ปัจจุบันเขายังรับงานในวงการบันเทิงเป็นระยะๆ

 

สด จิตรลดา

Boxing-13

ในยุคที่กีฬามวยสากลอาชีพได้รับความนิยมสุดขีด เมืองไทยมีแชมป์โลกพร้อมกันถึง 3 คน คือ เขาทราย แกแล็คซี่, สามารถ พยัคฆ์อรุณ และอีกคนที่เชื่อว่าคนไทยไม่เคยลืมเขา นั่นก็คือ สด จิตรลดา แชมป์โลกชาวไทยคนที่ 8 รุ่นฟลายเวต (112 ปอนด์) ของสภามวยโลก (WBC) และแชมป์เดอะริง มีสถิติการชกทั้งหมด 29 ครั้ง ชนะ 23 ครั้ง แพ้ 4 ครั้ง เสมอ 1 ครั้ง (ชนะน็อก 14 ครั้ง)

สด จิตรลดา มีชื่อจริงว่า เชาวลิต วงศ์เจริญ ชื่อเล่น เชาว์ เกิดเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2505 เป็นชาว ต.แสนสุข อ.เมือง จ.ชลบุรี เป็นชาวมุสลิมโดยกำเนิด เริ่มชกมวยไทยโดยใช้ชื่อว่า “เชาวลิต ศิษย์พระพรหม” มีประวัติการชกมวยไทยอย่างโชกโชน รวมทั้งเคยชกมวยสากลสมัครเล่น และเคยครองแชมป์ประเทศไทยในรุ่นฟลายเวต ก่อนเบนเข็มมาชกมวยสากลอาชีพ

เส้นทางของ สด ไปได้สวย เพราะชกมวยสากลอาชีพเพียง 3 ครั้ง ก็มีชื่อติดอันดับของรุ่นไลต์ฟลายเวต WBC และได้รับการติดต่อจาก “ไอ้เหยี่ยว” ชาง จูง กู แชมป์โลกชาวเกาหลีใต้ ให้ชิงแชมป์โลก ในการชกครั้งนี้ สด จิตรลดา ที่มีสถิติการชกเพียงไม่กี่ครั้ง กลับชกได้ดีกว่าแชมป์โลกมากประสบการณ์อย่าง ชาง จุง กู และเอาชนะคะแนนได้อย่างหวุดหวิด จากนั้นเขาก็ได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจัง

ภายหลังจากการอุ่นเครื่องสร้างประสบการณ์อีก 2 ครั้ง สด จิตรลดา จึงได้มีโอกาสชิงแชมป์โลกอีกครั้งในรุ่นฟลายเวต ของสภามวยโลก WBC ซึ่งคราวนี้สดก็ชนะคะแนนอีก

Boxing-14

ภาพจำของใครหลายคนเมื่อพูดถึง “สด จิตรลดา” ก็คือ เป็นมวยชกสนุก มีลีลาฟุตเวิร์กสวยงาม หมัดแย้บคม กล้าแลกกล้าชน แม้หมัดจะไม่หนักก็ตาม แต่ก็ถือว่าชนะใจคนดู ระหว่างเป็นแชมป์โลก สดได้เดินทางไปต่างประเทศชกป้องกันตำแหน่งหลายครั้ง ได้แก่ อังกฤษ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จาไมก้า และกลางทะเลทรายในประเทศคูเวต เกือบทุกครั้งจบลงด้วยความสวยสดงดงาม

หลังจากป้องกันตำแหน่งได้ 6 ครั้ง ในเวลาต่อมา สด มีโอกาสป้องกันตำแหน่งกับนักมวยรุ่นน้อง แต่ด้วยสภาพร่างกายและปัญหาด้านสายตาที่มีมากขึ้น ทำให้สดแพ้น็อกบ่อยครั้ง จนในที่สุดจึงได้แขวนนวมไป

ภายหลังแขวนนวม สดได้ศึกษาต่อจนจบปริญญาตรี นับเป็นนักมวยเพียงไม่กี่คนที่จบการศึกษาถึงระดับอุดมศึกษา หลังจากนั้นเขาได้ทำงานในสายอาชีพที่หลากหลาย รวมทั้งเคยเดินทางไปสอนมวยไทยที่ประเทศสหรัฐอเมริกาและแคนาดาเป็นระยะเวลา 3 – 4 ปี ปัจจุบันได้กลับมาเปิดค่ายมวยไทยย่านนนทบุรี เพื่อสอนมวยให้เด็กและเยาวชน ตลอดจนผู้สนใจในศิลปะมวยไทย

 

สมรักษ์ คำสิงห์

Boxing-15

คนสุดท้ายที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลยก็คือ “สมรักษ์ คำสิงห์” อดีตนักชกอารมณ์ดี สนุกสนานเฮฮา และมีวลีเด็ดคือ “ไม่ได้โม้” จนได้รับฉายาว่า “โม้อมตะ” เขาเป็นนักกีฬาทีมชาติไทยคนแรกที่ได้รับรางวัลเหรียญทอง จากการแข่งขันมวยสากลสมัครเล่น ในกีฬาโอลิมปิก ครั้งที่ 26 ที่เมืองแอตแลนตา รัฐจอร์เจีย สหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ. 2539 และมีโอกาสได้เข้าเฝ้า “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช” ทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญทองโอลิมปิก

สมรักษ์ เกิดเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2516 เป็นชาวหมู่บ้านโนนสมบูรณ์ อ.เมือง จ.ขอนแก่น มีพี่ชายซึ่งเป็นนักมวยเหมือนกันคือ สมรถ คำสิงห์ โดย สมรักษ์ เริ่มเข้าแข่งขันมวยสากลสมัครเล่นในนามของโรงเรียนตอนอายุ 12 ปี (พ.ศ. 2528) เมื่อเรียนจบ ม.6 ได้รับการทาบทามจากสโมสรราชนาวีให้ชกมวยสากลสมัครเล่นในนามของสโมสร และจะบรรจุให้เข้ารับราชการในกองทัพเรือด้วย เขาจึงตอบตกลง และประสบความสำเร็จได้ทั้งแชมป์ประเทศไทยและเหรียญทองกีฬาแห่งชาติ

สมรักษ์ เข้าสู่ทีมชาติครั้งแรกในการแข่งขันโอลิมปิก ที่บาร์เซโลนา ในปี พ.ศ. 2535 แต่ตกรอบแรก ต่อมา พ.ศ. 2536 ได้เหรียญทองมวยทหารโลกที่ประเทศอิตาลี แต่ไม่ได้ติดทีมชาติไปแข่งกีฬาซีเกมส์ในปีนั้นเพราะไม่พร้อม กระทั่งในปีถัดมา (พ.ศ. 2537) เขาเริ่มมีชื่อเสียงขึ้นมาเป็นครั้งแรก จากการเป็นนักกีฬาไทยที่ได้เหรียญทองเพียงคนเดียว ในการแข่งขันเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 12 ที่เมืองฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น และโด่งดังถึงที่สุดในปี พ.ศ. 2539 เมื่อคว้าเหรียญทองจากโอลิมปิกมาได้ ซึ่งถือเป็นความภาคภูมิใจของชาวไทยทุกคน

ภายหลังจากได้เหรียญทองโอลิมปิก สมรักษ์ ก็กลายเป็นซูเปอร์สตาร์ เขาได้รับรางวัลและการเชิดชูเกียรติจากหลายสถาบัน รวมทั้ง การสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท.) ก็ได้ออกแสตมป์ที่มีรูปการชกรอบชิงชนะเลิศของสมรักษ์ ราคาดวงละ 6 บาท เพื่อเป็นที่ระลึกถึงเหตุการณ์นี้ นอกจากนี้ สมรักษ์ยังได้เลื่อนยศจาก จ่าเอก เป็น เรือตรี อีกด้วย

Boxing-16

และด้วยบุคคลิกเฮฮา มีสีสัน น่าสนใจ งานในวงการบันเทิงจึงติดต่อเข้ามาหาเขาอย่างไม่ขาดสาย ทำให้เขาเอาใจใส่ในการชกมวยน้อยลง จนมีข่าวว่าซ้อมน้อยลงบ้าง หนีซ้อมบ้าง แต่กระนั้นเจ้าตัวก็ยังยืนยันว่าฝีมือของตัวเองยังคงเหมือนเดิม ถึงขนาดกล้าทำนายผลการชกล่วงหน้า ซึ่งก็ทำได้บ้างไม่ได้บ้าง จนได้ฉายาว่า “โม้อมตะ” และฝีมือการชกก็ลดประสิทธิภาพลงเรื่อยๆ พ่ายแพ้ในสนามการแข่งขันหลายครั้ง กระทั่งเขาเลิกชกมวยสากลสมัครเล่นอย่างเด็ดขาด ในปี พ.ศ. 2547 หลังจากนั้น นอกจากงานในวงการบันเทิงแล้ว เขาก็รับงานเป็นผู้บรรยายการแข่งขันมวย และมีขึ้นชกมวยในงานเฉพาะกิจอยู่บ้าง

ปัจจุบัน สมรักษ์ยังคงมีงานในวงการบันเทิงอยู่เรื่อยๆ รวมทั้งทำธุรกิจส่วนตัว มีค่ายมวยของตนเอง และเปิดสอนมวยไทยสำหรับผู้ที่สนใจด้วย

Boxing-17

 

รวบรวมข่าวสาร วงการมวยสากล จากทั่วทุกมุมโลก !!