Category Archives: ตำนาน

“บ๊อบ อารัม” ยันปิดดีล “โจชัว-ฟิวรี” ได้แล้ว แต่ยังไม่มีกำหนดการในการชกออกมา

โปรโมเตอร์มือทองชาวมะกันเผย ดีลไฟต์หยุดโลกในคู่ระหว่าง “ไทสัน ฟิวรี” กับ “แอนโธนี โจชัว” บรรลุข้อตกลงเบื้องต้นกันได้แล้ว แต่ยังไร้กำหนดที่ชัดเจน เนื่องจากผลกระทบของโควิด-19

วันที่ 4 มี.ค.64 ความเคลื่อนไหวของศึกมวยสากลชิงแชมป์โลก ของสองแชมป์โลกชาวอังกฤษระหว่าง ไทสัน ฟิวรี พบกับ แอนโธนี โจชัว ซึ่งคาดว่าจะขึ้นเดิมพันแชมป์โลกรุ่นเฮฟวีเวต 4 สถาบันในเร็วๆ นี้

ซึ่งเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ฟิวรี เผยว่า ดรีมไฟต์ในครั้งนี้ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้จริง เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา แอนโธนี โจชัว กลับมั่นใจว่า การดวลเดือดรวบตึงแชมป์โลกครั้งนี้ อาจเกิดขึ้นได้ภายในเดือนมิถุนายน

กระทั่งล่าสุด บ๊อบ อารัม โปรโมเตอร์จอมเก๋าชาวอเมริกัน ออกมายืนยันด้วยตัวเองผ่าน iFL TV ว่า ไฟต์หยุดโลกในครั้งนี้ใกล้ความจริงเข้าไปทุกที หลังทั้งสองฝ่ายบรรลุข้อตกลงเบื้องต้นเรียบร้อยแล้ว โดยเหลือเพียงแค่การเซ็นสัญญาอย่างเป็นทางการเท่านั้น แต่สิ่งที่น่ากังวลในตอนนี้คือ สถานการณ์โควิด-19 ที่ยังไม่คลี่คลาย ทำให้ยังไม่สามารถลงลึกในรายละเอียดได้ในตอนนี้

สื่อดังวงการมวย ยกให้ “เดอะ มันนี่” เป็นกำปั้นเบอร์ 1 ของโลกตลอดกาล

Boxing-285

บ็อกซ์เรค (BOXREC.COM) เว็บไซต์ดังในแวดวงหมัดมวย ผลงานของ มร.จอห์น เชฟเฟิร์ด และ มาริน่า ผู้ก่อตั้งที่คอยรวบรวมผลการแข่งขัน รวมถึงสถิติต่างๆ ในวงการกำปั้นทั่วโลก

ล่าสุดได้มีการสรุปอันดับโคตรมวยตลอดกาลที่มีบนโลกใบนี้ออกมา (สถิติรวมถึงนักชกที่แขวนนวมไปแล้ว) โดยใช้หลักการคำนวณจากสถิติการชก แล้วมาให้คะแนน ซึ่งผลปรากฎว่า “เดอะมันนี่” ฟลอยด์ เมย์เวทเธอร์ จูเนียร์ คือเบอร์หนึ่งของโลก

โดย อดีตกำปั้นชาวสหรัฐฯ ที่สามารถคว้าแชมป์โลกได้ถึง 5 รุ่น และเป็นเจ้าของสถิติไร้พ่ายบนโลกใบนี้ ด้วยการขึ้นสังเวียนถึง 50 ไฟต์ตลอดชีวิตบนสังเวียน มาเป็นอันดับ 1 ขณะที่อันดับ 2 แมนนี่ ปาเกียว ยอดกำปั้นชาวฟิลิปปินส์, อันดับที่ 3 คาร์ลอส มอนซอน โคตรมวยอาร์เจนตินา ขณะที่ มูฮัมหมัด อาลี ยอดนักชกชื่อดังหล่นมาอยู่อันดับที่ 4

อย่างไรก็ตามการจัดอันดับในครั้งนี้ก็สร้างความคาใจให้กับแฟนๆ หมัดมวยว่าทำไมถึงไร้ชื่อของยอดมวยดังอย่าง ไมค์ ไทสัน อดีตกำปั้นแชมป์โลกรุ่นเฮฟวี่เวต 3 สถาบัน ที่มีข่าวเตรียมหวนกลับมาชกอีกครั้งในวัย 53 ปี รวมถึง อีแวนเดอร์ โฮลิฟิลด์, ร็อคกี้ มาร์เซียโน่ และ โรแบร์โต้ ดูรัน ก็ไม่ติดโผด้วยเช่นกัน

10 อันดับโคตรมวยตลอดกาลจากการจัดอันดับ บ็อกซ์เรค

  1. ฟลอยด์ เมย์เวธเทอร์ จูเนียร์ (สหรัฐฯ) ชนะ 50
  2. แมนนี่ ปาเกียว (ฟิลิปปินส์) ชนะ 62 แพ้ 7 เสมอ 2
  3. คาร์ลอส มอนซอน (อาร์เจนตินา) ชนะ 87 แพ้ 3 เสมอ 9
  4. มูฮัมหมัด อาลี (สหรัฐฯ) ชนะ 56 แพ้ 5
  5. ซูการ์ เรย์ โรบินสัน (สหรัฐฯ) ชนะ 174 แพ้ 19 เสมอ 6
  6. เบอร์นาร์ด ฮอปกิ้นส์ (สหรัฐฯ) ชนะ 55 แพ้ 8 เสมอ 2
  7. โจ หลุยส์ (สหรัฐฯ) ชนะ 66 แพ้ 3
  8. อาร์ชี่ มัวร์ (สหรัฐฯ) ชนะ 186 แพ้ 23 เสมอ 10
  9. ออสการ์ เด ลา โฮย่า (สหรัฐฯ) ชนะ 39 แพ้ 6
  10. ฮูลิโอ เซซ่าร์ ชาเวซ (เม็กซิโก) ชนะ 107 แพ้ 6 เสมอ 2

เผย ที่มาของรอยสักบนหน้า หนึ่งในตานานนักชก “ไมค์ ไทสัน”

ไมค์ ไทสัน อดีตกำปั้นแชมป์โลกค้างฟ้าชาวอเมริกัน เป็นที่รู้จักกันดีจากพลังหมัดอันหนักหน่วงและลีลาการชกที่ไม่เหมือนใคร รวมถึงรอยสักบนใบหน้าที่หลายคนต่างอยากรู้ว่าที่มาที่ไปเป็นอย่างไร

อดีตแชมป์โลกรุ่นยักษ์ มีรอยสักอันเป็นเอกลักษณ์อยู่ที่บริเวณด้านข้างดวงตาฝั่งซ้าย ซึ่งเป็นลวดลายชนเผ่าซึ่งสักไว้ตั้งแต่ยังไม่เลิกชกอาชีพ และ เจฟฟ์ เฟเนช อดีตเทรนเนอร์ข้างกาย ก็เป็นคนออกมาเปิดเผยเบื้องหลังของรอยสักนี้แฟนคลับรู้โดยกระจ่าง

เฟเนช เล่าผ่าน FOX ว่ารอยสักนี้ของ ไทสัน เกิดขึ้นตอนเจ้าตัวอายุ 36 ปี หลังจากที่พ่ายแพ้ให้แก่ เลนนอกซ์ ลูอิส เมื่อปี 2002 เจ้าของสมญา “มฤตยูดำ” ก็ไปสักเพื่อเป็นข้ออ้างในการไม่อยากขึ้นเวทีชกไฟต์ต่อไป ซึ่งมีกำหนดการเจอกับ คลิฟฟอร์ด เอเตียนน์ ในปีถัดมา

“ความประทับใจแรกคือผมไม่เคยมีรอยสักมาก่อนในชีวิต แต่ผมคิดว่าขณะที่เรากำลังจะขึ้นเวทีต่อสู้ในอีก 1 สัปดาห์ แล้วคุณดันไปสักมา คุณขึ้นไปต่อยไม่ได้หรอกเพราะมันจะเป็นแผลตกสะเก็ด แล้วมันก็ไม่ดีกับสุขภาพ”

“เรานั่งคุยกันและเขาแสดงออกชัดเจนว่าไม่อยากชก และนั่นก็คือเหตุผลที่เขาไปสักมา เราคุยกันจบลงใน 1 ชั่วโมง และผมก็ร้องไห้หลังเดินออกมาในคืนนั้น ผมนอนอยู่ที่โรงแรมแบบสิ้นหวัง ทั้งที่ผมยอมห่างบ้าน 8 สัปดาห์ใน ลาส เวกัส ทุ่มเททุกสิ่งเพื่อให้เขาพร้อมต่อสู้ แต่สุดท้ายผมก็อยู่ในโรงแรมและตีตั๋วเครื่องบินกลับไปหาครอบครัว เพราะนั่นคือสิ่งสำคัญอันดับแรกของผม”

อย่างไรก็ตาม ไทสัน กลับเปลี่ยนใจมาชกอีกครั้งโดยได้ เฟรดดี โรช มาเป็นเทรนเนอร์ขัดตาทัพ และขึ้นไปน็อค คลิฟฟอร์ด เอเตียนน์ ในเวลาแค่ 43 วินาทีของยกแรก วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2003 และเป็นชัยชนะสุดท้ายในสังเวียนอาชีพของ ไทสัน ก่อนแพ้ แดนนี วิลเลียมส์ ปี 2004 กับ เควิน แม็คไบรด์ ปี 2005 ในสองไฟต์ถัดมา และแขวนนวมอย่างเป็นทางการ

19.00น. คืนนี้คิว *น้าแสบ* คลีกระจายโดย สอดสร้อย ไลฟ์สด ห้ามพลาด..!!

Boxing-177

เชิญชวนคุณผู้อ่าน ติดตามชมและรับฟัง ทบทวนความทรงจำเก่าๆ ในเรื่องราวหมัดมวย รื้อฟื้นเหตุการณ์ต่างๆของ นักชกระดับโลก และ แชมเปี้ยนโลกชาวไทย กับ สอดสร้อย สาวสังเวียน และทีมงาน ทาง “ไลฟ์ เพจ กีฬา ข่าวสด” เป็นประจำทุกค่ำวันพุธ เวลาหนึ่งทุ่มตรงเป็นต้นไป !!

ในยุคที่เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในโลกการสื่อสาร เป็นยุคที่ส่งผลกระทบต่อวงการข่าวอย่างรุนแรงทั่วโลก นิตยสาร และ สื่อสิ่งพิมพ์ล้วนต้องปรับตัวให้ทันกับวิวัฒนาการสมัยใหม่ ผู้คนหันไปเสพย์ข่าวสารทางโลกโซเชียลออนไลน์กันมากขึ้น

จนถึงกับมีคำเปรียบเปรยที่ว่า “หนังสือพิมพ์กำลังจะตาย..และห่างหายไปจากแผงใกล้บ้าน” หากใครไม่เร่งปรับปรุงเปลี่ยนแนวให้ทัน ก็คงจบเห่ไปตามๆกัน ไม่เชื่อคอยดู !!

เรื่องราวหมัดมวยก็เช่นกัน ในโลกยุคใหม่ที่นิยมความรวดเร็วเข้าว่า มาพร้อมกับการ ก๊อปปี้ ลอกข่าว คัดบทความ ที่แชร์ต่อๆกันมา เพื่อหวังยอดวิวผู้ชมเป็นสำคัญ โดยขาดการกลั่นกรองให้ถ้วนถี่ ถึงยุคสมัยนี้หากไม่มีใครบันทึกบทความเรื่องราวต่างๆไว้ใน กลูเกิ้ล หรือ ยูธูป บางทีเหตุการณ์ที่เพิ่งผ่านพ้นไปไม่ถึง 65 ปียังแทบไม่มีใครรู้เลยด้วยซ้ำ

อาทิ มวยสากลชิงแชมป์โลกของไทย ปี พ.ศ.2497 ระหว่าง จำเริญ ทรงกิตรัตน์ กับ จิมมี่ คาร์รัทเธอร์ ชกกันที่ไหนแน่..?? ระหว่าง สนามศุภชลาศัย กับ สนามจู๊ฟ (จารุเสถียร เดิม) ฯลฯ เรื่องราวอีกมากมาย ได้รับการบอกเล่าถ่ายทอดจากปากต่อปาก จากรุ่นสู่รุ่น ชนิดที่ยังไม่มีใครบันทึกไว้ใน YouTube หรือ Google

นับวันที่คนรุ่นเก่าเริ่มโรยราก่อนตายจาก เหลือเพียงตำนานมวยเก่าๆที่ยังหายใจรวยริน หากคุณเป็นคนหนึ่งที่สนใจ ลองถามตัวเองในใจดูเล่นๆ

“คุณยังจำพวกเขาได้ไหม และคุณลืมพวกเค้าไปหมดแล้วหรือยัง..!?!?”

ยังมีความทรงจำอีกมากมาย ที่มีคนอยากจะถ่ายทอด แต่ยังไม่ได้บอกเล่า หรืออาจเป็นเพราะขี้เกียจทำ หรือทำแล้ว มีคนลอกเอาไปต่อยอดทางธุรกิจโดยไม่ให้เครดิต

Boxing-179

สิ้นลายวีรบุรุษ : เมื่อ “ฮูลิโอ เซซาร์ ชาเวซ” ถูกปีศาจหลอกให้ตกหลุมรัก

Boxing-96

“อยู่อย่างวายร้าย หรือจะตายแบบฮีโร่” คำกล่าวสุดตรึงใจของ ฮาร์วี่ย์ เดนท์ หรือ Two-Face ในภาพยนตร์เรื่อง The Dark Knight สะท้อนความจริงถึงเรื่องของชีวิตที่มีสองด้าน ไม่มีมนุษย์คนไหนที่ไม่เคยผิดพลาด ท่ามกลางความสำเร็จของชีวิต

ฮูลิโอ เซซาร์ ชาเวซ ตำนานมวยแชมป์โลกชาวเม็กซิกัน คือหนึ่งคนที่มีชีวิตใกล้เคียงกับคำกล่าวนั้น บนเวทีเขาคือนักชกไร้พ่ายเกือบร้อยไฟต์ แต่นอกเวที เขาเลือกเส้นทางชีวิตที่ผิดพลาด จนครอบครัวแตกสลาย และเกือบเอาชีวิตไม่รอดในบั้นปลาย

พบกับเรื่องราวด้านมืดของวีรบุรุษชาวเม็กซิกัน ที่พลิกผันเขาเข้าสู่เส้นทางของยาเสพติด จนเปลี่ยนชีวิตของเขาไปตลอดกาล

Boxing-94

ลำบากเมื่อยามเด็ก

ชีวิตของ ฮูลิโอ เซซาร์ ชาเวซ ในวัยเด็ก คล้ายกับนักมวยสู้ชีวิตรายอื่น เขาเติบโตอย่างยากลำบาก จากครอบครัวชนชั้นล่างในเมืองซิอูดัด โอเบรกอน รัฐโซโนรา ประเทศเม็กซิโก

สภาพความเป็นอยู่ที่แร้นแค้น ชาเวซ และพี่น้องรวม 10 คน ต้องอาศัยอยู่ในตู้ขบวนรถไฟที่ถูกทิ้งร้าง พ่อของเขาทำงานเป็นคนงานให้กับการรถไฟ ส่วนแม่รับจ้างทั่วไปให้แก่ครอบครัวที่มีรายได้มากกว่า
แตกต่างจากเรื่องราวในนิยายที่บอกว่า ครอบครัวยังมีความสุขได้แม้อยู่ในภาวะยากจน ชาเวซต้องทนดูแม่ของเขา ถูกตบตีโดยพ่อขี้เมาแทบทุกวัน

“เหล้าคือโรคที่ร้ายกาจ ผมต้องเจ็บปวดกับมันเนื่องจากพ่อของผม เขาปฏิบัติกับแม่ในทางที่เลวร้าย มันเป็นอะไรที่แย่มาก” ชาเวซให้สัมภาษณ์กับ Sipse.com

Boxing-100

ความฝันในการเป็นนักมวยแชมป์โลกของชาเวซ เริ่มต้นขึ้นจากจุดนั้น แน่นอนว่าเขาไม่ได้รับแรงบันดาลใจจากพ่อ ที่สวมบทนักชกสมัครเล่นและใช้ภรรยาเป็นกระสอบทรายฝึกซ้อม ชาเวซเลือกอาชีพนักมวยสากล เพื่อหาเงินมาช่วยเหลือครอบครัว และพาแม่ออกจากชีวิตอันโหดร้ายนี้

“ผมเห็นแม่ต้องทำงานรีดผ้า หรือซักผ้าของคนอื่น ผมจึงสัญญากับแม่ไว้ว่า สักวันผมจะซื้อบ้านให้แม่ และเธอจะไม่ต้องกลับไปทำงานพวกนั้นอีก”

“ในช่วงต้นอาชีพ (นักมวย) ของผม ผมไม่เคยดื่มเหล้าเลย ผมเป็นนักกีฬาที่ยอดเยี่ยม เพราะผมดูแลตัวเองเป็นอย่างดี ก่อนจะขึ้นชกแต่ละไฟต์ ผมตั้งสมาธิอยู่กับตัวเอง และฝึกซ้อมอย่างหนักเป็นเวลา 2 เดือน”

ความตั้งใจจริงในการช่วยเหลือครอบครัว คือแรงผลักดันใหญ่ที่ทำให้ชาเวซ ประสบความสำเร็จบนพื้นผ้าใบอย่างมหาศาล เขาคือแชมป์โลก 6 สมัย จาก 3 รุ่นน้ำหนัก พร้อมกับทำสถิติไร้พ่ายมากกว่า 80 นัด จากเด็กยากจนคนหนึ่งในทางรถไฟ กลายเป็นฮีโร่ของชาวเม็กซิกันทั่วประเทศ เพียงชั่วพริบตา

Boxing-93

“ผมเคยมีมาแล้วทั้งหมด เงิน, ผู้หญิง, เกียรติยศ, รถหรู, เรือสำราญ หรืออะไรก็ตามที่ผู้ชายคนหนึ่งต้องการ” ชาเวซเล่าถึงจุดเปลี่ยนสำคัญของตัวเอง

“แต่ของพวกนั้น ไม่เคยให้ความหมายแก่ชีวิตของผมเลย ผมรู้สึกไร้ค่า เพราะฉะนั้น ผมจึงหันไปทำอะไรล่ะ? สิ่งที่โง่ที่สุดเท่าที่ผมเคยทำในชีวิตนี้…”
 
หันหน้าหาโคเคน

Boxing-95

ช่องว่างที่เกิดขึ้นในจิตใจของชาเวซ เปลี่ยนนักมวยที่มีระเบียบวินัย และฝึกซ้อมอย่างหนักเพื่อคว้าชัยชนะ ให้กลายเป็นนักมวยที่ไม่สนใจสิ่งรอบข้าง หรือมีความรับผิดชอบใด ชาเวซลืมความตั้งใจที่ต้องการช่วยเหลือครอบครัวในวัยเด็ก แล้วหันหน้าเข้าหาขวดเหล้า โรคร้ายที่เขาเคยสาปส่งในวัยเด็ก

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อเหล้าไม่สามารถพาชาเวซหลีกหนีจากความจริงได้อีกต่อไป เขาขยับไปหายาเสพติดที่มีความรุนแรงมากขึ้น โคเคนคือคำตอบสุดท้ายที่ชาเวซต้องการในชีวิต แชมป์โลกไร้พ่ายรายนี้ ทิ้งกระสอบทรายไว้เบื้องหลัง เพื่อหันหน้าเสพสุขกับผงสีขาวที่กระจายตัวอยู่เบื้องหน้า

“น้องชายของผมล้วงเอาห่อกระดาษที่มีโคเคนอยู่ข้างในกางเกงออกมา แล้วเทมันออกไปทั่วโต๊ะหินอ่อน เพื่อที่เขาจะได้เสพมันอย่างสบายใจ” โรโดลโฟ ชาเวซ พี่ชายของฮูลิโอ เขียนเรื่อราวของน้องชายชายไว้ในหนังสือ Julio Cesar Chavez, the True Story

“ตอนแรกผมคิดว่า ผมควบคุมมันได้” ชาเวซกล่าวขยายถึงความสัมพันธ์ของเขากับเหล้าและยาเสพติด

“ผมแค่ต้องการเหล้ามากขึ้น ต้องการโคเคนมากขึ้น ต้องการทั้งหมดมากขึ้นและมากขึ้น ระหว่างการฝึกซ้อม ผมก็เสพมันมากขึ้นด้วย”

“ยกตัวอย่าง ในตอนแรก ผมจะทิ้งช่องว่างประมาณเดือนครึ่งในการใช้ยาเสพติดหรือเหล้า แต่หลังจากนั้น ผมค่อยๆ ลดเวลาของมันลงมาเรื่อยๆ”

Boxing-98

“หลังจากนั้น ผมลดเวลาลงมาเหลือหนึ่งเดือน, 20 วัน, 15 วัน, 1 สัปดาห์, 4 วัน, 3 วัน ผมลดได้แค่นั้น เพราะมันจะต้องไม่แสดงผลให้เห็นในการตรวจโด๊ป”

ผลจากการใช้ยาเสพติดอย่างหนักของชาเวซ ไม่แสดงให้เห็นในการตรวจโด๊ป แต่ไปแสดงให้เห็นบนสังเวียนแทน เขาพ่ายแพ้แก่ แฟรงกี้ แรนดัลล์ ในปี 1994 ด้วยคะแนนไม่เอกฉันท์ และหยุดสถิติไร้พ่ายของเขาไว้เพียง 89-0-1 (ก่อนหน้านั้นเขาเสมอกับ เพอร์เนลล์ วิทเทเกอร์ มาในปี 1993)

“มันคือความผิดพลาดที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตของผม ถ้าผมไม่ใช้โคเคนหรือดื่มเหล้ามากเกินไป ผมเชื่อว่าช่วงท้ายอาชีพของผม มันต้องแตกต่างไปจากนี้แน่” ชาเวซกล่าวถึงความรู้สึกหลังความพ่ายแพ้ของเขา 

“แต่ผมไม่สามารถทำแบบนั้นได้ ผมสูญเสียความรักในการชกมวย สูญเสียความรักในทุกสิ่ง” 

“ผมรู้สึกเสียดายหลายสิ่งที่ผมเคยทำในชีวิต ถ้าผมไม่ดื่มเหล้าหรือเล่นยา ผมคิดว่าผมอาจไม่แพ้ใครได้นานมากกว่า 100 ไฟต์” 

“มันคงจะเป็นสถิติที่ไม่มีใครทัดเทียมได้ ถ้ามองกันตามหลักเหตุผลนะ เพราะฉะนั้น ผมไม่ชอบเส้นทางที่จบอาชีพผมเลย เพราะตลอดช่วงเวลาเหล่านั้น ผมทำร้ายคนอื่นไว้มาก โดยเฉพาะครอบครัวของผม”

ชีวิตพังทลาย

Boxing-97

ตราบาปที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของชาเวซ คือความสัมพันธ์ของเขาที่ไปไม่รอดกับครอบครัว จากเด็กชายที่มองเห็นความชั่วร้ายของพ่อที่ติดเหล้า เขากลับเลือกเส้นทางผิดพลาด และทำในสิ่งที่ต้องเสียใจไปตลอดชีวิต

“ช่วงนั้นผมมีความขัดแย้งกับครอบครัวและการฝึกซ้อม ผมกลายเป็นคนที่หยิ่งผยอง” ชาเวซกล่าว

ผมพูดตามตรงว่า ลูกๆ ของผมเจ็บปวดมาก ผมปฏิบัติต่อแม่ของพวกเขาอย่างเลวร้าย ผมเองก็เมายาอยู่ตลอดเวลา ผมคิดว่ามันคงเป็นการทำร้ายพวกเขา”

ช่วงเวลาเดียวกันกับที่ชาเวซหันหลังให้แก่ครอบครัว เขาพบเพื่อนใหม่ที่จะไม่ทำให้เขาต้องโดดเดี่ยวในโลกของตัวเองอีกต่อไป คนกลุ่มนั้นคือบรรดาพ่อค้ายา และเจ้าพ่อยาเสพติด ชาเวซเปิดเผยว่าทุกคนล้วนเป็นเพื่อนที่ดีต่อเขา และยังหยิบยื่นโอกาสให้ชาเวซเจริญก้าวหน้า ด้วยการชักชวนเข้าสู่วงการค้ายาเสพติดอีกด้วย

“ผมรู้จักพวกค้ายาทุกคนแหละ พวกเขาทุกคน ผมกล้าพูดแบบนี้ ตั้งแต่ระดับเล็กที่สุดไปจนถึงใหญ่ที่สุด พวกเขาทุกคนอยากเจอผม พวกเขาอยากถ่ายรูปกับผม” ชาเวซเล่าถึงความสัมพันธ์ของเขาที่มีต่อพ่อค้ายาเสพติด

“เมื่อคุณตกหลุมลึกลงไปสู่การติดเหล้าหรือยาเสพติด นั่นหมายความว่าคุณตกหลุมรักเหล้าและยา แต่คนที่รักคุณที่สุด คือคนที่พยายามผลักคุณออกจากตรงนั้น”

Boxing-99

“ผมต้องขอบคุณพระเจ้าที่ผมไม่เคยถลำลึก เข้าไปเกี่ยวข้องกับการค้ายาจริงๆ สักครั้ง”

ถึงจะรู้ดีว่าพัวพันกับเรื่องอันตราย แต่ชาเวซไม่เคยถอนตัวจากยาเสพติดได้เลย แม้แทบสูญเสียทุกอย่างในชีวิต บั้นปลายเส้นทางนักมวยอาชีพเป็นไปอย่างน่าผิดหวัง แถมยังถูกฟ้องหย่าโดยภรรยา ต้องขึ้นโรงขึ้นศาลกันเป็นเรื่องใหญ่ มาตั้งแต่ปี 1996 จากคำกล่าวอ้างที่ว่า เขาลงมือทำร้ายร่างกายภรรยา หลังได้รับผลจากแอลกอฮอล์

“ผมไม่เคยทำสิ่งใดอย่างจริงจังเลยในชีวิต มันจึงเป็นสิ่งที่ยากที่ผมจะเลิกยา เพราะมันไม่มีสิ่งใดสำคัญกับผมอีกต่อไป” ชาเวซพูดถึงเหตุผลที่เขารักยามากกว่าครอบครัว

“คุณคิดว่าคุณสามารถเลิกยาเมื่อไรก็ได้ แต่นั่นมันเป็นแค่คำโกหก คุณกำลังหลอกตัวเองอยู่”

ชาวเวซประกาศแขวนนวมในปี 2005 มีสองอย่างที่อยู่เคียงข้างเขาในช่วงเวลาที่อยากลำบากหลังจากนั้น อย่างแรกคือลูกๆ ของเขาที่ไม่ยอมห่างไปไหน อย่างที่สองคือยาเสพติดที่ชาเวซไม่ยอมทิ้งไปให้ห่างตัวเช่นกัน แม้มันจะนำพามาซึ่งโรคซึมเศร้า จนเขาเกือบลงมือฆ่าตัวตายมาแล้วก็ตาม

ปี 2009 ความสัมพันธ์ของชาเวซกับยาเสพติดมาถึงจุดสิ้นสุด เมื่อตัวเขาที่กำลังไร้สติจากฤทธิ์ยาเสพติด ถูกนำส่งโรงพยาบาลเพื่อรักษาเป็นการด่วน ลูกๆ ของเขาตัดสินใจเด็ดขาด ว่าจะส่งพ่อเขารับการบำบัด ยุติเรื่องเลวร้ายทั้งหมดในชีวิตชาเวซไว้เพียงแค่นี้

“ผมตื่นขึ้นมาในห้องของคลินิกแห่งหนึ่ง โดยที่ยังมีสายน้ำเกลือติดอยู่กับแขนของผม แน่นอนว่าผมตัดสินใจดึงมันออกไป และเริ่มตะโกนด่าทุกคนที่พาผมมาที่นี่”

นั่นเป็นครั้งสุดท้ายที่ชาเวซรักยาเสพติดมากกว่าสิ่งใดในชีวิต เขาเข้ารับการบำบัดอยู่ 6 เดือน ก่อนเดินออกจากคลินิกแห่งนั้น เพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่ไร้ยาเสพติด เป็นครั้งแรกในรอบกว่าสิบปี


ช่วงเวลาไถ่บาป

หลังเสร็จสิ้นการบำบัด และหายขาดจากการติดยาเสพติด ชาเวซตัดสินใจตระเวนออกสื่อไปทั่วประเทศเม็กซิโก เพื่อหยิบยกเรื่องราวที่เขาเคยปิดบังในชีวิต ให้เป็นอุทธาหรณ์เตือนใจ แก่ชาวเม็กซิกันรุ่นหลังต่อไป

“ตอนนี้ผมมีความสุขมาก เพราะผมเลิกยามาได้ 1 ปีแล้ว เมื่อปีก่อน ผมเข้ารับการบำบัดยาเสพติด และผมไม่อายเลยที่จะพูดเรื่องนี้ให้พวกคุณได้ฟัง ขอบคุณพระเจ้าที่ตอนนี้ผมดีขึ้นมากแล้ว” ชาเวซเปิดเผยกับสื่อด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม เมื่อปี 2011

ไม่เพียงแค่เปิดเผยเรื่องราวของตัวเองให้สังคมได้รับรู้ ชาเวซทุ่มเทชีวิตที่เหลือไปกับการช่วยเหลือผู้คนให้ห่างไกลยาเสพติด เขารับเกียรติจากประธานาธิบดีเม็กซิโก เอ็นริเก้ เปญญา นิเอโต ให้ดำรงตำแหน่งเป็นทูตต่อต้านยาเสพติด เพื่อต่อสู้กับปัญหาที่กัดกินประเทศเม็กซิโกมายาวนานหลายทศวรรษ

“ผมรู้สึกตื่นเต้น มีความสุข และภาคภูมิใจ แม้ว่าในขณะเดียวกัน ผมจะรู้สึกกดดัน และต้องทุ่มเทให้กับตำแหน่งนี้ ผมต้องอยู่ห่างไกลจากยาเสพติดให้เดิมเสียอีก” ชาเวซกล่าวหลังรับตำแหน่งทูตต่อต้านยาเสพติดจากรัฐบาล

นอกจากความร่วมมือจากรัฐบาล ชาเวซยังเดินหน้าเปิดคลินิกบำบัดยาเสพติดของตัวเองถึงสองแห่ง พร้อมกับดำเนินมูลนิธิการกุศล Julio Cesar Chavez Foundation เพื่อรวบรวมทุนไว้ช่วยเหลือผู้มีปัญหาด้านยาเสพติด ในประเทศเม็กซิโก

สำหรับคลินิกบำบัดของชาเวซแห่งแรกคือ Clinica Bajo del Sol ที่เมืองติฮัวนา ส่วนแห่งที่สองซึ่งเปิดได้ไม่นาน อยู่ที่เมืองซีนาโลอา ทั้งสองเป็นเมืองใหญ่ริมชายฝั่งแปซิฟิค ที่ชาเวซตั้งใจอยากให้ผู้ป่วย ได้ชมความสวยงามของธรรมชาติ แทนที่จะต้องอยู่ในศูนย์บำบัด ที่ล้อมรอบไปด้วยลวดหนาม แบบที่เขาเคยสัมผัสมา

กิลเลอร์โม แรงเกล เมนโดซา หนึ่งในนักจิตแพทย์ของคลินิกบำบัด Clinica Bajo del Sol เปิดเผยว่า ชาเวซเดินทางมาพูดคุย และเล่าถึงประสบการณ์ของตัวเองกับคนไข้บ่อยครั้ง แม้บางทีคนไข้ในคลินิกของเขาจะดูคุ้นหน้าคุ้นตาเป็นพิเศษ เพราะใครคนนั้น คือลูกชายของชาเวซเอง

ปี 2012 ฮูลิโอ เซซาร์ ชาเวซ จูเนียร์ ตกเป็นข่าวดังหลังถูกตรวจพบว่าใช้กัญชาก่อนขึ้นชกกับ เซร์คิโอ มาร์ติเนซ แม้เจ้าตัวจะปฏิเสธเสียงแข็งในเวลาดังกล่าว ว่าไม่เคยเล่นยาหรือติดการพนันตามที่ถูกกล่าวอ้าง แต่สุดท้าย เขาตัดสินใจยอมรับ หลังถูกแบนยาว และหายตัวไปจากวงการโดยไม่ขึ้นชกถึงหนึ่งปีเต็ม

“ผมเริ่มดื่มหนักและเล่นยา ผมเสพกัญชาและยาหลายขนาน เพราะว่าผมมีปัญหาเรื่องการนอน ผมเลิกเหล้าไปสองปีก่อนหน้านี้ แต่ผมเปลี่ยนไปเล่นยาแทนแต่สุดท้ายมันก็จบแบบเดียวกัน คือของเหล่านั้นกลับมาทำร้ายผม” ฮูลิโอ เซซาร์ ชาเวซ จูเนียร์ กล่าว

“ผมต้องไปอยู่ติฮัวน่าสองเดือน ไปอยู่ในคลินิกของพ่อผม เพราะว่าผมเจ็บปวดจากโรคซึมเศร้า สำหรับผมมันยากมาก ผมถามตัวเองว่าทำไม ผมมีเงิน มีบ้าน ชีวิตผมไม่ได้แย่ แต่ต่อมาผมถึงรู้ว่าผมคิดผิด ภรรยาและลูกสาวผมรู้ดีว่า เวลาที่ผมดื่มเหล้า ผมมันแย่แค่ไหน”

คำกล่าวของ ฮูลิโอ เซซาร์ ชาเวซ จูเนียร์ สะท้อนภาพเดียวที่เคยเกิดขึ้นกับพ่อของเขา โชคดีที่ชาเวซ จูเนียร์ กลับตัวได้ทันเวลา โดยมีครอบครัวคอยเคียงข้าง และพร้อมหวนคืนล่าความสำเร็จบนเวทีมวยอีกครั้ง

เรื่องราวด้านมืดในชีวิตของ ฮูลิโอ เซซาร์ ชาเวซ จึงเป็นตัวอย่างสำคัญที่แสดงให้เห็นว่า ยาเสพติดอันตรายและอยู่ใกล้ตัวมากแค่ไหน แม้แต่นักมวยผู้เป็นฮีโร่ของชาวเม็กซิกันทั่วประเทศ ยังตกหลุมพรางของสิ่งชั่วร้ายนี้ได้เพียงพริบตา และยังคงตามมาเล่นงานถึงรุ่นลูกของเขา

เราจึงไม่ต้องแปลกใจเลย หากเห็นตำนานนักชกรายนี้ ทุ่มเททั้งชีวิตที่เหลือไปกับการต่อสู้ยาเสพติด เพราะตัวเขาเองรู้ดีถึงพิษภัยของมัน และไม่ต้องการเห็นใครต้องหลงทางในชีวิต ดั่งที่เขาเคยเป็นมาก่อนหน้านี้อีกแล้ว

กำเนิด “Gazelle Punch” : หมัดแห่งตำนานมวยโลกที่ “อิปโป” ใช้เป็นท่าไม้ตาย

Boxing-77

Hajime no Ippo หรือ ก้าวแรกสู่สังเวียน นั้นทุกคนรู้ดีว่า มาคุโนอุจิ อิปโป เด็กหนุ่มพระเอกของเรื่องมีท่าไม้ตายประจำตัวที่ชื่อว่า “เด็มพ์ซี่ย์ โรล” (Dempsey Roll) ที่ส่งเขาคว้าชัยในศึกแล้วศึกเล่า อย่างไรก็ตามมีอีก 1 ท่าไม้ตายที่เขามักจะใช้ประจำนั่นคือ “กาเซล พันช์” (Gazelle Punch) ซึ่งหมัดนี้มีที่มาในโลกแห่งมวยสากลอาชีพจริงๆ 

“กาเซล พันช์”  คือท่าไม้ตายที่กระแทกหน้าทีเดียวคนโดนชกปลิวเหมือนกับโดนสิบล้อชนได้ง่ายๆ… ทว่า กาเซล พันช์ ในโลกแห่งความจริงนั้นเป็นเช่นไร? และมีตำนานอะไรซ่อนอยู่ภายใต้หมัดสิบล้อชนนี้กันแน่?

ทำไมต้องชื่อ กาเซล พันช์?

หากให้แปลตรงตัวแบบกำปั้นทุบดิน กาเซล พันช์ นั้นแปลว่า “หมัดละมั่ง” ใช่แล้ว คำว่า “กาเซล” ไม่ได้มาจากชื่อคนเหมือนอย่างท่า เด็มพ์ซี่ย์ โรลล์ ที่ได้มาจาก แจ็ค เด็มพ์ซี่ย์ แต่อย่างใด ซึ่งเหตุผลที่ต้องเอาละมั่งมาเปรียบเทียบนั้น เกิดขึ้นจากการที่ท่านี้ต้องใช้พลังขาผนวกเข้ากับกำลังหมัดเป็นอย่างมาก

Boxing-78

ละมั่ง นั้นเป็นสัตวจำพวกกวาง จุดเด่นของมันคือพละกำลังกล้ามเนื้อขาที่ถึงแม้จะเล็กแต่ก็ทรงพลัง ละมั่งที่โตเต็มวัยสามารถดีดตัวได้สูงเกิน 2 เมตร เพื่อใช้เป็นท่าไม้ตายในการเอาตัวรอดยามเผชิญหน้ากับสัตว์นักล่านั่นเอง อย่างไรก็ตาม ก็มีหลายครั้งที่ท่านี้ถูกเรียกว่า “หมัดจิงโจ้” (Kangaroo Punch) เพราะท่าดังกล่าวก็สอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของจิงโจ้เช่นกัน

การใช้พละกำลังจากขาถูกผูกเข้ามาเป็นหนึ่งในท่าไม้ตายในวงการมวยในช่วงประมาณยุค ’50s คนแรกที่นำมาใช้คือ ร็อคกี้ มาร์เซียโน่ นักมวยไม่กี่คนบนโลกนี้ที่ไร้พ่ายตั้งแต่วันแรกที่เทิร์นโปรจนกระทั่งวันเกษียณ เขาคนนี้คือคนที่ มูฮัมหมัด อาลี นักชกเฮฟวี่เวตที่ถูกยกให้ว่าเก่งที่สุดตลอดกาลยังยอมรับว่า “ผมไม่รู้จะเอาชนะเขาได้หรือเปล่า?”

หากจะเท้าความว่าทำไม มาร์เซียโน่ จึงต้องคิดค้นท่า กาเซล พันช์ ขึ้นมาคงต้องย้อนกลับไปตั้งแต่สมัยยังเป็นวัยรุ่น เขาชื่นชอบการเล่นเบสบอลมาก แม้จะฝีมือดี แต่แขนของเขาไม่มีพลังมากพอเมื่อเทียบกับคนอื่นๆ จนท้ายที่สุดก็ต้องเลิกนั่นทำให้เขาหันมาเป็นนักมวยสากลสมัครเล่นหลังจากได้เข้าไปอยู่ในกองทัพอเมริกา

มาร์เซียโน่ เป็นนักมวยที่ตั้งรับไม่เป็นหรือเรียกง่ายๆ ว่าเป็นมวยไฟต์เตอร์จ๋า เดินหน้าฆ่ามันอย่างเดียวเท่านั้น เมื่อประกอบด้วยร่างกายที่เสียเปรียบด้วยความสูงแค่ 5 ฟุต 11 นิ้ว (179 เซนติเมตร) หนักแค่ 190 ปอนด์ (86 กิโลกรัม) พร้อมช่วงชกที่สั้นแค่ 68 นิ้ว (173 เซนติเมตร) ดังนั้นมันจึงจำเป็นมากที่เขาจะต้องมีหมัดเด็ดที่ใช้ปิดบัญชีคู่ชกได้จากการมุดเข้าวงใน และหลังจากที่เขาได้เทิร์นโปรในปี 1947 โลกก็ได้รู้จัก กาเซล พันช์ หรือ หมัดละมั่ง เป็นครั้งแรก

กาเซล พันช์ มีวิธีใช้ง่ายๆ เพียง 4 สเต็ปเท่านั้นได้แก่…

หนึ่ง ย่อเข่าลงเล็กน้อยเพื่อรอจังหวะหลบหมัดของคู่ต่อสู้

สอง ถ่ายเทน้ำหนักไปที่ขาทั้งสองข้าง

สาม บิดสะโพกเล็กน้อยเพื่อเสริมแรง ในขณะที่ง้างหมัดฮุกหรืออัพเปอร์คัต

และ สี่ ดีดตัวขึ้นมาพร้อมจู่โจมต่อเนื่อง สลับด้วยหมัดซ้ายที ขวาที พร้อมบิดสะโพกเสริมแรง เอาจนกว่าคู่ชกจะร่วง

Boxing-79

สำหรับ ร็อคกี้ มาร์เซียโน่ นั้น กาเซล พันช์ คือท่าไม้ตายก้นหีบของเขา ด้วยพลังกำปั้นที่หนักหน่วงบวกกับเทคนิคเสริมพลังจากการยันตัวของร่างกายส่วนล่างทำให้ 16 ไฟต์แรกของการชกอาชีพ เขาไล่ถลุงคู่ชกจนได้ชนะน็อคทุกครั้ง และมีถึง 9 จาก 16 ไฟต์ที่น็อคคู่ชกได้ตั้งแต่ระฆังปิดยกที่ 1 ยังไม่ดังเลยทีเดียว

หมัดที่หนักหน่วงทำให้เขาได้ฉายาว่า “The Brockton Blockbuster” หรือที่คนไทยเรียกกันว่า “ไอ้หมัดภูผาหิน” ซึ่งตามมาด้วยสถิติชกชนะรวด 49 ไฟต์ และมีถึง 43 ไฟต์ที่เป็นการชนะน็อคเอาต์คู่แข่งอีกด้วย 

แม้จะเลิกชกไปแต่ กาเซล พันช์ ก็กลายเป็นมรดกตกทอดในวงการมวยสืบไป หลังจากหมดยุคของเขาในปี 1955 

เพราะหลังจากนั้นไม่นาน ฟลอยด์ แพ็ทเทอร์สัน ก็นำท่า กาเซล พันช์ มาใช้งานต่อและประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก เพราะตัวของ แพ็ทเทอร์สัน นั้นเป็นคนที่เคลื่อนไหวได้เร็วมากตั้งแต่ขั้นตอนแรก (ขั้นตอนการย่อเข่าหลบหมัดของคู่แข่ง) ดังนั้นเมื่อเริ่มต้นดี การดีดตัวเพื่อชกของเขาก็ยิ่งแรงเข้าไปอีก ก่อนจะปิดท้ายด้วยการชกแบบซ้ายทีขวาทีแบบแทบนับหมัดไม่ทัน นั่นคือเหตุผลที่ว่าทำไมจึงกลายเป็นนักมวยอายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ที่คว้าแชมป์โลกรุ่นเฮฟวี่เวตได้ (ก่อน ไมค์ ไทสัน จะมาทำลายสถิติในภายหลัง)

Boxing-80

ความเร็วและความหนักในการใช้ กาเซล พันช์ ของ แพ็ทเทอร์สัน ถูกยกย่องว่าเขาเป็นผู้ใช้ท่าไม้ตายนี้ได้มีประสิทธิภาพที่สุดในประวัติศาสตร์อีกด้วย 

นักชกรุ่นหลังๆ เรียนรู้วิธีเพิ่มพลังหมัดจากการใช้แรงส่งจากขาและร่างกายท่อนล่างของ มาร์เซียโน และแพทเทอร์สัน ไปสร้างชื่อเสียงได้มากมาย โดยเฉพาะไฟต์ในตำนานระหว่าง โจ เฟรเซียร์ กับ มูฮัมหมัด อาลี ในปี 1971 ที่ โจ เฟรเซียร์ นั้นใช้ กาเซล พันช์ มุดเข้าวงในและฮุกด้วยซ้ายใส่ อาลี จนร่วงในยก 15 และเป็นฝ่ายชนะคะแนนไปในท้ายที่สุด แต่สิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่านั้นคือนั่นคือครั้งแรกที่นักชกที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์อย่าง อาลี ต้องพบกับความพ่ายแพ้ในอาชีพนักรบสังเวียนผ้าใบ 

แม้แต่อาลี ก็ยังร่วงได้ง่ายๆ ดังนั้นมันจึงเป็นเครื่องยืนยันได้อย่างดีว่า กาเซล พันช์ คือท่าไม้ตายที่ได้เรื่องได้ประสิทธิภาพอย่างแท้จริง และปัจจุบันยังมีนักชกหลายคนที่ใช้งานมันอยู่ หนึ่งในนั้นคือ วลาดิเมียร์ คลิทช์โก้ อดีตแชมป์โลกเฮฟวี่เวตชาวยูเครนนั่นเอง

กาเซล พันช์ มาถึง อิปโป ได้อย่างไร?

การได้ กาเซล พันช์ เป็นอาวุธทีเด็ดนั้นเกิดขึ้นจากการที่ อิปโป เป็นนักมวยตัวเล็กเสียเปรียบช่วงชก (จุดเริ่มต้นคล้ายๆ กับ ร็อคกี้ มาร์เซียโน่) จึงต้องหาท่าไม้ตายที่เล่นงานคู่ชกจากวงในและสุดท้ายก็มาค้นพบ กาเซล พันช์ นั่นเอง

Boxing-81

ว่ากันตามความจริงแล้ว อิปโป นั้นไม่ใช่คนหมัดหนักโดยพรสวรรค์แต่อย่างใด เพราะมันเกิดจากการฝึกกล้ามเนื้อมาอย่างดีต่างหาก อิปโป เคยทำงานแบกหามบนเรือประมง อีกทั้งเมื่อเข้าระบบอาชีพเขาก็ยังเน้นการฝึกกล้ามเนื้อแบบเข้มข้นมาโดยตลอดตั้งแต่ตอนแรกๆ แล้ว

การฝึกท่า กาเซล พันช์ นั้นมีจุดเริ่มต้นมาจากตอนที่ 46 ที่ อิปโป เริ่มฝึกกล้ามเนื้อขาและชกกระสอบทรายเป็นครั้งแรก จนกระทั่งได้เอามันมาใช้ครั้งแรกกับ อเล็กซานเดอร์ วรูค ซานคีเยฟ แน่นอนว่าด้วยพลังขาที่พร้อมตั้งแต่สมัยทำงานอยู่บนเรือ บวกกับการฝึกกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ เพิ่มขึ้นอีกจึงทำให้ อิปโป ซัด วรูก ด้วย กาเซล พันช์ จนกระเด็นด้วยความรุนแรงราวกับโดนสิบล้อชนก็ไม่ปาน

อย่างไรก็ตามในเรื่องก็ยัง “เนิร์ฟ” กาเซล พันช์ ของ อิปโป ลงไปพอสมควร เพราะด้วยความรุนแรงระดับสิบล้อชน ผู้เขียนจึงจำกัดขีดความสามารถของ กาเซล พันช์ ด้วยการใส่ข้อแม้ไปว่า “ไม่อาจต่อยท่านี้รัวๆ ได้” เพราะจะส่งผลกับร่างกายของตัว อิปโป เอง

โลกการ์ตูน vs โลกความจริง

ทุกวันนี้ กาเซล พันช์ ยังคงเป็นท่าที่ทรงประสิทธิภาพไม่เปลี่ยนแปลง โดยท่านี้เหมาะกับเวลาที่ต้องดวลกับคู่ชกที่มีช่วงชกยาวกว่าและมีการออกอาวุธระยะไกลที่ดีกว่า เพราะการถีบตัวไปข้างหน้าแบบละมั่งนั้นหากทำได้ตามขั้นตอนและมีประสิทธิภาพแล้วยากที่ใครจะตั้งตัวทัน ยกตัวอย่างเช่นการที่ เฟรเซียร์ คว่ำ อาลี ตามที่กล่าวไปข้างต้นจะเห็นภาพชัดเจนที่สุด

เพราะ อาลี ในเวลานั้นที่ขึ้นชื่อว่าเป็นนักมวยที่มีฟุตเวิร์คดีที่สุดและรวดเร็วที่สุดถึงขั้นขนาดชกแบบไม่ต้องตั้งการ์ดก็ยังไม่สามารถตั้งตัวหมัด กาเซล พันช์ ของ เฟรเซียร์ ได้เลย

Boxing-82

อย่างไรก็ตามทุกอย่างบนโลกนี้ไม่มีอะไรดี 100% และไม่ได้เรื่อง 100% กาเซล พันช์ เองก็เช่นกัน ในการ์ตูนนั้นอาจจะถูกอ้างอิงว่าร่างกายของผู้ใช้จะเสียหาย ทว่าในโลกแห่งความจริงนั้น กาเซล พันช์ ก็มีจุดอ่อนซ่อนอยู่ไม่ต่างกัน

Shortboxing เว็บไซต์เกี่ยวกับการวิเคราะห์พลังหมัดหรือการชกแบบต่างกล่าวว่า กาเซล พันช์ ไม่เหมาะอย่างยิ่งกับการเจอกับนักมวยสายตั้งรับ (เคาน์เตอร์ พันช์) หรือเรียกง่ายๆ ก็คือนักมวยที่ดักชกจังหวะสองเก่งๆ อาทิ ฟลอยด์ เมย์เวทเธอร์ จูเนียร์ ยอดฝีมือสายเคาน์เตอร์เหล่านี้จะมีโอกาสอ่านทางและปล่อยหมัดขวาตรง หรือซ้ายตรงใส่หน้าคนที่พยายามจะใช้ กาเซล พันช์ ได้ก่อนแน่นอน เพราะใช้ระยะในการออกหมัดที่สั้นและกินเวลาในการปล่อยหมัดน้อยกว่า 

ตัวอย่างที่ชัดมากๆ อันหนึ่งคือไฟต์ในศึก UFC 194 ระหว่าง คอเนอร์ แม็คเกรเกอร์ กับ โฮเซ่ อัลโด้ ในปี 2015 อัลโด้ พยายามจะใช้การชกลักษะเดียวกับ กาเซล พันช์ ใช้พลังขาดีดตัวเข้าชก ทว่า แม็คเกรเกอร์ ยืนระยะดีพอที่จะอ่านทางออกก่อนและสวนเปรี้ยงทีเดียวเข้าที่หน้าเต็มๆ จน อัลโด้ หลับกลางอากาศเลยทีเดียว

Boxing-83

จะเห็นได้ว่าเมื่อโลกและยุคสมัยของมวยเปลี่ยนไป กาเซล พันช์ นั้นโดนจับทางได้ในท้ายที่สุด ไม่มีใครที่เป็นมวยไฟต์เตอร์สายเดินหน้าฆ่ามันใช้ท่านี้คว่ำคู่ชกได้ง่ายๆ แบบที่ ร็อคกี้ มาร์เซียโน่ และ ฟลอยด์ แพ็ทเทอร์สัน เคยทำได้อีกแล้ว 

ทว่า กาเซล พันช์ ได้กลับคืนสู่สามัญเหมือนกับความหมายตรงตัวกับคำแปลแบบกำปั้นทุบดินที่ว่า หมัดละมั่ง อย่างแท้จริง เพราะมันจะกลายเป็นทีเด็ดของมวยฝ่ายตั้งรับโดยปริยาย เหมือนกับที่ ละมั่ง ใช้หนีสัตว์นักล่านั่นแหละ พลังขาที่แข็งแรง และการรอจังหวะใช้พลังอย่างใจเย็น คือกุญแจแห่งความสำเร็จที่จะทำให้มวยรองสามารถพลิกกับมาชนะได้มากกว่าปกติไม่มากก็น้อย… 

และนั่นคือเหตุผลว่าทำไมผู้เขียนจึงมอบท่านี้ให้กับ อิปโป… หาก “เด็มพ์ซี่ย์ โรล” คือสกิลสายบุกที่รวดเร็วแล้วล่ะก็ “กาเซล พันช์” ก็เป็นทีเด็ดยาม อิปโป ตั้งรับยามเจอคู่แข่งที่เหนือกว่าหรือบุกดุดันกว่า ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้พระเอกของเรื่องมีพัฒนาการจนเป็นนักชกที่ดุดันครบเครื่องนั่นเอง

“ไทสัน” ยังนับสิบ : ความลับของ “บัสเตอร์ ดักลาส” ในไฟต์พลิกล็อคที่สุดในประวัติศาสตร์มวยโลก

Boxing-47

“ชัดสุดๆ มันจบแน่นอน ไทสัน ไม่สามารถลุกขึ้นมาสู้กับผมได้อีก เขานอนหลับปุ๋ยอยู่บนสังเวียนนั่นไง” นี่คือสิ่งที่ เจมส์ “บัสเตอร์” ดักลาส กล่าวไว้หลังจากที่เขาคว่ำนักชกเฮฟวี่เวตที่ดีที่สุดแห่งยุคอย่าง ไมค์ ไทสัน ซึ่งเป็นผลการแข่งขันที่ช็อคโลก

ไม่ค้านสายตาแต่ว่าน่าตื่นตะลึง ไทสัน ไม่เคยแพ้ใครมาก่อน 37 ไฟต์และเป็นการชนะน็อค 33 ไฟต์ เขาเดินขึ้นเวทีเพื่อซัดกับ ดักลาส ด้วยเช็มขัดแชมป์ 3 สถาบันหลัก WBA, WBC, IBF ไม่ต้องถามว่าใครคือคนที่เป็นต่อ และใครคือหมูในสายตาเซียนมวย

ทว่าสุดท้ายเรื่องเหลือเชื่อก็เกิดขึ้นเมื่อมวยรองกลับน็อคมวยแชมป์ได้ … จริงอยู่ที่กีฬานั้นมีแพ้มีชนะ แต่ชัยชนะไฟต์นี้ของ บัสเตอร์ ดักลาส นั้นไม่ธรรมดา … มันมีเหตุผลที่ว่าทำไมเขาจึงต่อยเก่งขึ้นกว่าเดิมแบบก้าวกระโดด ฟุตเวิร์กเร็วขึ้น, อึดขึ้น, ว่องไวขึ้น และหมัดหนักขึ้น ในไฟต์กับ ไทสัน ไฟต์นี้

ห่างกันเหลือเกิน

ไฟต์ที่กล่าวถึงในข้างตันนั้นเกิดขึ้นที่ โตเกียว โดม กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ในปี 1990 ในตอนนั้น ไทสัน กลายเป็นมวยแม่เหล็กของโลกและ ดอน คิง โปรโมเตอร์ของเขาก็ผลักดันให้ “ไอออน ไมค์” ออกเดินทางไปชกในต่างแดนมากขึ้นเพื่อหาเงินเข้ากระเป๋าและสร้างชื่อเสียงให้ได้มากกว่าเดิม เหมือนกับที่เคยทำสำเร็จมาแล้วกับไฟต์ที่ชนะ โทนี่ ทับบ์ส ณ สถานที่เดียวกันเมื่อปี 1988 มาอย่างสบายๆ ด้วยการน็อคตั้งแต่ยกที่ 2

Boxing-48

เหตุผลที่ใครก็อยากดู ไทสัน ไม่ใช่เพราะว่าเขาเป็นแชมป์มากมายหลายสถาบัน แต่มันคือเสน่ห์ในการชกต่างหากที่โดดเด่นเข้าตา ไทสัน หมัดหนัก เป็นมวยไฟเตอร์ที่มีความเร็วสูงที่สุดในระดับรุ่นเฮฟวี่เวต สายตาว่องไว มุดหลบหมัดของคู่ชกเก่งมากและหาจังหวะปล่อยหมัดตรงแบบเปรี้ยงเดียวร่วงได้แบบไม่มีปี่มีขลุ่ย 

ว่ากันว่าหาก ไทสัน ขึ้นเวทีแล้วคนดูต้องกลั้นปัสสาวะอุจจาระกันให้ดี เพราะหากลุกไปเข้าห้องน้ำเมื่อไหร่ ไม่มีใครรับประกันว่าคุณจะได้เห็นช็อตสำคัญๆ หรือหมัดน็อคหรือเปล่า … นั่นคือเหตุผลที่ ไทสัน ถือเข็มขัด 3 สถาบันหลักก่อนไฟต์ดังกล่าวจาก WBA, WBC และ IBF หนำซ้ำก่อนชกไฟต์นี้ ไทสัน ชนะมารวด 37 ไฟต์ และเป็นการน็อคเอาต์ถึง 33 ครั้ง … ว่าแต่คู่ชกของเขาล่ะเป็นใครมาจากไหน?

เจมส์ “บัสเตอร์” ดักลาส คือนักมวยที่แก่กว่า ไทสัน 7 ปี ณ ไฟต์นั้น ดักลาส อายุย่าง 30 ปี ส่วน ไทสัน มีอายุ 23 ปี และกำลังอยู่บนจุดสูงสุดของรุ่น ขณะที่ตัวของผู้ท้าชิงจะเรียกว่า “ไร้แต้มต่อ” ก็พอจะใช้คำนั้นได้ เพราะเขาต่อยมาจนอายุ 30 ปี แต่ก็ยังไม่เคยเป็นแชมป์เลยแม้แต่สมัยเดียว ใกล้เคียงที่สุดในการเป็นแชมป์ของ ดักลาส คือในปี 1987 ที่ได้ท้าชิงแชมป์ของ IBF กับ โทนี่ ทัคเกอร์ แต่สุดท้ายก็ไปไม่ถึงฝันแพ้น็อคไปในยกที่ 10 ตามเคย

Boxing-49

เหตุผลที่เขาไม่ได้เก่งระดับนรกแตกคงเป็นเพราะว่า เขาเริ่มชกมวยช้ากว่านักมวยระดับแชมป์โลกทั่วไปพอสมควร ตัวของ เจมส์  ดักลาส นั้นมีพ่อเป็นอดีตนักมวยอาชีพก็จริง แต่ช่วงวัยรุ่นเขาใช้เวลาไปกับการเล่น บาสเกตบอล และเคยเล่นในเกมชิงแชมป์ประจำรัฐโอไฮโอ กับสถาบัน โรงเรียนไฮสคูล ลินเดน แมคคินนีย์ ในปี 1977 อีกด้วย ก่อนจะกลายเป็นผู้เล่นระดับขึ้น ฮอลล์ ออฟ เฟม ของ คอฟฟีวิลล์ คอมมิวนิตี คอลเลจ หลังจากนั้นไม่นาน เรียกว่ากว่าจะได้จริงเอาจังเอาดีกับการชกมวยจริงๆ เขาก็อายุเกือบ 20 ปี แล้ว 

บันไดขั้นที่ไร้ปัญหา 

แม้จะเริ่มต้นชกมวยช้าแต่ ดักลาส ก็พัฒนาตัวเองได้ไวมาก นิตยสาร ริง แม็กกาซีน จัดอันดับให้เขาเป็นนักชกเฮฟวี่เวตอันดับ 7 ของยุคนั้น เหตุผลเพราะหลังจากที่เขาแพ้ให้กับ ทัคเกอร์ ในการท้าชิงเมื่อปี 1987 ที่กล่าวไป ดักลาส ก็กลับมาอยู่ในฟอร์มที่ดีชนะมา 6 ไฟต์ติดต่อกัน ดังนั้น ดักลาส จึงเป็นคู่ชกที่ “เหมาะสม” ในมุมมองของฝั่งไทสัน

Boxing-50

เขาไม่ได้อ่อนจนเกินไป เขาเป็นนักชกอันดับที่ 7 ของโลกในรุ่นนี้ นั่นทำให้หากในบั้นปลายแล้ว ไทสัน เป็นฝ่ายชนะ มันก็ถือเป็นชัยชนะที่สมเกียรติ ไม่ได้ง่ายดายเหมือนมวยล้มต้มคนดูแต่อย่างใด … เรื่องค่าตัวนั้นคงไม่ต้องพูด แม้ไม่มีตัวเลขก่อนชกเปิดเผยชัดเจน แต่ความเป็นมวยแม่เหล็กนั้นสามารถคาดคะเนได้ว่า ไทสัน ฟันเงินมากกว่าจมแน่นอน และเผลออาจจะมากกว่าที่ ดักลาส ได้เกินกว่า 4-5 เท่าด้วยซ้ำไป 

ดอน คิง กับ ไทสัน ได้แต่ยิ้มกริ่มในการเจอกับ ดักลาส แม้ดีกรีจะพอมีแต่สำหรับ ไทสัน แล้ว ดักลาส ถือว่าเป็นคู่ชกที่นิ่มๆ และพร้อมจะเป็นบันไดให้เขายืดสถิติชนะ 38 ไฟต์รวด และอาจจะเป็นการเพิ่มสถิติน็อคเอาต์คู่ชกเป็น 34 ครั้งด้วย 

เรื่องความห่างชั้นและการมอง ดักลาส เป็นบันไดมีหลายข้อมูลที่ใช้อ้างอิงได้ อย่างน้อยก็จากปากของ ไมค์ ไทสัน เอง

“8 มกราคม 1990 ผมจะนั่งเครื่องไปลงที่ โตเกียว เมื่อเครื่องจอดผมจะถีบประตูดัง ปัง! และร้องดังๆ เลยว่า ‘กูไม่ได้มาเพื่อต่อยกับใคร แต่กูจะมาปาร์ตี้และขยี้สาวที่นี่โว้ย'” นี่คือสิ่งที่ ไทสัน ให้สัมภาษณ์หลังรู้ว่าต้องชกกับ ดักลาส … และมันไม่ใช่ครั้งเดียวที่ ไทสัน พยายามจะบอกให้โลกรู้ว่าศึกไฟต์นี้เขาปิดประตูแพ้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

เหตุผลที่ ไทสัน กล้าพูดอะไรแบบนั้นเพราะความจริงเขาแทบไม่เห็น ดักลาส ในสายตาเลยด้วยซ้ำ การที่เขามาชกที่ โตเกียว ไฟต์นี้ เกิดจากการผลักดันของ ดอน คิง ซึ่งว่ากันว่าโปรโมเตอร์หัวฟูพยายามจะเรียกเก็บเงินคนดูคนละ 60 ดอลลาร์ ตั้งแต่การซ้อมเลยทีเดียว

Boxing-51

แม้จะได้เงินก้อนโต แต่ ไทสัน เองไม่เห็นด้วยกับ ดอน คิง เลยด้วยซ้ำ เขาเชื่อว่านักชกอย่าง ดักลาส ไม่คู่ควรกับการเสียเหงื่อของแชมป์โลกอย่างเขา ทว่าอย่างที่ใครรู้กันดีว่า ดอน คิง แสบขนาดไหน ในสัญญาที่ ไทสัน เซ็นไว้กับเขาเมื่อครั้งอดีตกลายเป็นบ่วงมัดคอ “ไอออน ไมค์” ที่ต้องทำตามที่ ดอน คิง สั่งแทบทุกอย่าง ไม่อย่างนั้นจะต้องโดนปรับอย่างหนักแบบได้ไม่คุ้มเสีย

“ผมไม่ได้อยากจะชกกับ ดักลาส มากมายอะไรหรอก หมอนี่ไม่ค่อยน่าสนใจเท่าไหร่” ไทสัน ย้ำอีก “ผมไม่ต้องดูเทปการชกเก่าๆ ของเขาหรอก ดูสถิติก็รู้แล้ว ใครก็ตามที่เคยน็อค ดักลาส ได้ในอดีต ผมว่าผมน็อคพวกนั้นได้ทุกคนนั้นแหละ”

เขาไม่ได้แค่พูดเล่น เขาทำเป็นไม่ได้สนใจไฟต์นี้จริงๆ เพราะเมื่อโปรแกรมยิ่งใกล้เข้ามา สิ่งเดียวที่ ไทสัน ยอมเสียเหงื่อคือการมีเซ็กส์กับผู้หญิงไม่ซ้ำหน้า ว่ากันว่า 6 สัปดาห์ก่อนการชก ไทสัน “ใส่ยับ” บนเตียงแบบไม่พักวัน ซึ่งเขาเรียกมันว่านี่แหละ “การฝึกซ้อมของผมสำหรับ ดักลาส” 

ดักลาส ผู้ยอมรับต่อโชคชะตา

ยิ่งใกล้วันชกโลกก็ยิ่งตื่นตัว บ่อนพนันถูกกฎหมายทั่วโลกเปิดราคามาแบบโหดสุดๆ ราคาที่เปิดมาคือ 42-1 อธิบายให้เข้าใจง่ายคือ หากคุณกำเงิน 1 ดอลลาร์ ไปลงว่า ดักลาสจะพลิกล็อคช็อคโลกได้ ก็จะได้เงินกลับมาถึง 42 ดอลลาร์ (ไม่รวมทุน) หากการพลิกล็อคนั้นกลายเป็นความจริง

Boxing-52

ถึงกระนั้น คนวงการหรือคนแทงมวยทุกคนรู้ดีว่าบนสังเวียนผ้าใบ อะไรก็เกิดขึ้นได้โดยเฉพาะมวยรุ่นยักษ์แบบนี้ หลับหูหลับตาชกมั่วซั่วต่อให้ ไทสัน ก็เถอะ สามารถโดน “หมัดเขวี้ยงควาย” โป้งเดียวหงายท้องเลยก็ได้ และเมื่อธรรมชาติของมวยรุ่นยักษ์มันเป็นเช่นนี้จึงทำให้โดยปกติแล้วหากราคาเปิดมาแบบน่าเสี่ยงแบบนี้ “ขารอง” คงหาทางหยอดไว้หวังพลิกล็อกไม่มากก็น้อย

แต่ไฟต์นี้แตกต่างออกไป … เพราะทุกคนรู้ว่ามันชัวร์ซะยิ่งกว่า เจ้ามือพนันแทบทุกโต๊ะปิดรับแทงคู่นี้หมดเพราะกลัวไม่มีคนมาลงเงินด้วย มีเพียง 1 เจ้าที่ชื่อ The Mirage ที่เป็นคาสิโนใน ลาส เวกัส ที่ยินดีเปิดรับแทงมวยไฟต์นี้ … ทว่าทั้งๆ ที่เหลือแห่งเดียวแท้ๆ แต่กลับไม่มีใครกล้าเสี่ยง ว่ากันว่าแม้แต่นักพนันที่เมาจนหัวทิ่มบ่อที่สุดใน ลาส เวกัส ก็ยังมีสติพอที่จะเลี่ยงเดิมพันฝั่ง บัสเตอร์ ดักลาส

อย่าว่าแต่นักพนันเลย แม้แต่ตัวของ ดักลาส เองก็ไม่คิดว่าไฟต์นี้จะได้อะไรมากกว่าค่าตัวก่อนขึ้นชก … แต่อย่างน้อยๆ ถ้าเขาได้เหยียบเวทีเขามั่นใจว่าเขาจะสู้เต็มที่แน่นอน

“ผมรู้ดี ผมมาอยู่ที่นี่โดยแทบจะไม่มีโอกาสอะไรให้กับผมเลย แทบไม่มีใครเชื่อน้ำยาผมหรอก แต่ผมไม่สนใจอะไรนักขอแค่คนของผมมั่นใจในตัวผมก็พอแล้ว … ถ้าไม่คิดจะสู้ก็ไม่รู้จะเทิร์นโปรมาเพื่ออะไร” ดักลาส กล่าว

การซ้อมที่ญี่ปุ่นของ ดักลาส สวนทางกับ ไทสัน คนละโลก เขาไม่รู้ว่า ไทสัน ซ้อมอะไรบ้าง เพราะฝ่ายจัดนั้นเตรียมโรงยิมไว้ยิมเดียวและใช้ร่วมกันทั้ง 2 คน … ไทสัน จะได้ซ้อมก่อน และต่อด้วยทีมของ ดักลาส จะได้เริ่มซ้อมเป็นทีมถัดไป

“ทีมของเราจะเข้าโรงยิมหลังจากทีมของ ไมค์ ใช้งานเสร็จ สิ่งที่เราเห็นหลังใช้ต่อจากเขาคือ เก้าอี้ทุกตัวพลิกคว่ำระเนระนาดไปหมด เหมือนกับใครบางคนทำอะไรที่ยิ่งใหญ่ไว้” ดักลาส เล่าความหลังก่อนที่จะขึ้นชกไฟต์ดังกล่าว

“ส่วนการซ้อมของเราน่ะเหรอ? เงียบเชียบเลย มีแต่ผมและเทรนเนอร์แค่ 2 คน แต่มันก็ดีนะ สงบดีเหมือนกัน ไม่มีใครดูเราซ้อมหรอก และนั่นคือหนึ่งในแรงจูงใจเหมือนกัน”

ดักลาส ซ้อมไปแบบเงียบๆ ไม่มีตัวตนอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน … และท้ายที่สุดวันแห่งการชี้ชะตา 11 กุมภาพันธ์ 1990 ก็มาถึง โลกอยากจะเห็นเขาโดนน็อค ซึ่งเขาเปลี่ยนใจใครไม่ได้ ดักลาส ค่อยพันหมัดและสวมใส่นวมสีแดง เขาเป่าปากหนึ่งครั้งเพื่อเอาความกดดันบางอย่างออกไป และเดินขึ้นเวทีด้วยความรู้สึกที่ “อยากชนะ” อย่างบอกไม่ถูก

โค่นมฤตยู 

สิ่งเดียวที่ ดักลาส ได้เปรียบในมุมมองของคนนอกคือส่วนสูงและช่วงชกที่ยาวกว่า ดักลาส สูง 193 เซนติเมตร ช่วงชก 211 เซนติเมตร ขณะที่ ไทสัน นั้นสูงแค่ 178 เซนติเมตร ช่วงชก 180 เซนติเมตร เท่านั้น ซึ่งหากอยากจะชนะเขาต้องเอาจุดแข็งนี้มาใช้ประโยชน์ให้ได้

Boxing-53

ระฆังยกแรกดังขึ้นและเป็นอย่างที่ทุกคนคาด ไทสัน เดินมาหวังสังหารให้งานจบๆ ไป แต่ ดักลาส เตรียมตัวมาดี เขามีฟุตเวิร์กที่ฉากหลบได้หลายครั้ง หนำซ้ำยังมีหมัดแย็บที่ใช้ความยาวของช่วงแขนจิ้มเข้าหน้าให้ ไทสัน ได้หน้าสั่นอยู่เรื่อยๆ หนำซ้ำการดักชกจังหวะ 2 ของ ดักลาส ก็แม่นยำเกินกว่าที่ใครจะคาดคิดได้ ไทสัน กำลังลำบากแบบที่ไม่เคยมีใครเห็น 

อย่างไรก็ตามขณะที่ตัว ไทสัน เองแม้จะโดนเยอะผิดปกติ ซึ่งแน่นอนว่าเกิดจากการอ่อนซ้อมไปบ้าง แต่ความเร็วยังเชื่อขนมกินได้ เขาซัดหมัดใส่ ดักลาส ไปไม่น้อย ซึ่งมันเป็นเรื่องน่าแปลกที่ความหนักของหมัด ไทสัน ถูก ดักลาส ทานทนได้ถึง 7 ยกด้วยกัน … แม้จะเซ จะส่าย แต่ ดักลาส เก็บอาการและไม่ยอมล้มให้เสียนับเลยใน 7 ยกแรก

นั่นอาจจะทำให้ ไทสัน หงุดหงิด เพราะทันทีที่เปิดยก 8 เหมือนเขาเดินเข้าเกียร์ 5 คราวนี้ ดักลาส เดินสเต็ปเหมือนยกที่ผ่านๆ มา แต่ ไทสัน กลับแก้เกมมาดี เผลอแว่บเดียวเขาเข้าวงในและอัปเปอร์คัตขวา “เปรี้ยง!” …. ดักลาส โดนเต็มๆ ตาลอยและล้มลง กองเชียร์เสียงดังสนั่นด้วยความดีใจ “จบแล้ว จบแน่ๆ” ใครที่เห็นอัปเปอร์คัตนั้นไม่สามารถคิดเป็นใดไปอื่นได้

Boxing-54

“ผมร่วงเลย … ไม่ไหวจริงๆ ผมต้องล้มเพื่อขอเวลาพักสักนิดจากหมัดนั้น ผมทรุดตัวไปพร้อมๆ กับมองไปที่หน้าของ ไมค์” ดักลาส เล่านาทีหน้าจอดับ ขณะที่ ไทสัน ยืนมองเขาจากระยะประมาณ 3 เมตร ด้วยท่ากัดฟันยางอันยียวน … ดักลาส ลุกขึ้นหลังจากรรมการนับ 8 

ยกที่ 9 ขณะที่ใครคิดว่า ดักลาส ทนพิษบาดแผลไม่ไหวแน่ ทว่าไม่รู้อะไรปลุกเขาขึ้นมาอีกครั้ง เขากลับออกมาจากมุมและเดินจ้วงเข้าใส่ไทสันแบบรัวและเร็วจน ไทสัน เปิดตำราตั้งรับไม่ทัน 

“ไงล่ะโว้ย ตอนนี้ฉันเก่งขึ้นบ้างรึยัง แกคิดว่ายังไงวะไมค์” นี่คือความรู้สึกที่ ดักลาส อธิบายออกมาจากฟอร์มการชกที่่ดุดันหลังจากไปทัวร์นรกมาในยกที่ 8

Boxing-55

ไม่ต้องรอถึงการตัดสินอีกแล้วต่อไปนี้ ไทสัน อาจจะเข้าเกียร์ 5 แต่ตอนนี้ ดักลาส เข้าเกียร์ 6 บวกติดไนตรัสไปแล้ว เมื่อระฆังยกที่ 10 ดังขึ้น ดักลาส ไม่แย็บอีกต่อไป เขาเดินเข้าประชิดและปล่อยหมัด หนึ่ง-สอง ตามตำราง่ายๆ หลังสบโอกาส แต่เข้าเป้าจังๆ ทุกดอก 8 วินาทีเท่านั้นสำหรับชุดใหญ่ที่เตรียมมา ทุกอย่างจบลงทันที

อัปเปอร์คัตขวา-ซ้ายตรง-ขวาตรง และปิดด้วยหมัดซ้ายอีกหนึ่งครั้ง … เปรี้ยง! เปรี้ยง! เปรี้ยง! และ โป้ง!  ไทสัน รับไปเต็มๆ และเมื่อทุนเดิมเขาเป็นนักชกสายบุกไม่มีจุดเด่นเรื่องความแข็งของคางแล้ว ไอออน ไมค์ หมดสภาพลงไปกองกับพื้นทันที  

Boxing-56

“ชัดสุดๆ มันจบแน่นอน ไทสัน ไม่สามารถลุกขึ้นมาสู้กับผมได้อีก เขานอนหลับปุ๋ยอยู่บนสังเวียนนั่นไง” บัสเตอร์ ดักลาส เล่านาทีสร้างตำนาน “ไฟต์เฮฟวี่เวตที่พลิกล็อกที่สุดในประวัติศาสตร์”

ทำไมแกเก่งขนาดนี้วะ?

ทีมของ ดักลาส ทุกคนวิ่งขึ้นมาบนเวที ลูกชายวัย 11 ขวบของเขาสวมหมวกแก็ปที่เขียนว่า “บัสเตอร์ ดักลาส” ถูกพ่อของเขาแบกขึ้นบนไหล่ อันเดอร์ด็อกจากโอไฮโอ คว้าเงินรางวัลเพิ่มเป็น 1.6 ล้านเหรียญ และแน่นอนมันมากที่สุดเท่าที่เขาเคยได้รับมา

Boxing-57

และหลังจากฉลองกันได้ไม่นานโฆษกประจำสนามเดินขึ้นมาและสัมภาษณ์ ดักลาส ซึ่งเป็นผู้ชนะ

“นี่อาจจะดูคล้ายนิยายใช่ไหม … แต่ดูเหมือนว่ามันจะเป็นเรื่องเศร้าได้เหมือนกัน” แลร์รี่ เมอร์ชานต์ เกริ่นนำ ก่อนที่หลังจากนั้นไม่กี่วินาที ดักลาส ก็เผยให้เห็นถึงน้ำตาลูกผู้ชาย น้ำตานั้นประกอบด้วยชัยชนะส่วนหนึ่งแต่เป็นแค่ส่วนเล็กๆ เท่านั้น เพราะส่วนประกอบสำคัญของมันคือ “ไฟต์นี้คือสิ่งที่เขาจะส่งให้แม่ของเขาบนสวรรค์”

“ลูล่า เพิร์ล ดักลาส” คือชื่อแม่ของ เจมส์ “บัสเตอร์” ดักลาส แชมป์โลก 3 สถาบันคนใหม่ และเธอเพิ่งจากไปด้วยโรคหลอดเลือดในสมอง ก่อนการชกระหว่างลูกชายของเธอกับ ไมค์ ไทสัน ไม่กี่สัปดาห์เท่านั้น

นั่นแหละคือเหตุผลที่ว่าทำไม บัสเตอร์ ดักลาส ไม่ยอมร่วง … ถึงร่วงก็ไม่ยอมแพ้ แม่คือคนสำคัญในชีวิตของเขา ดังนั้นเขาจะแพ้ไม่ได้

“พลังงานจากแม่ไหลเวียน มันคือแรงจูงใจที่พุ่งพล่าน จนกระทั่งตอนที่เขา (โฆษก) ถามถึงเรื่องแม่เท่านั้น ทุกอย่างที่พยายามกลั้นไว้ก็พังทลายทันที” 

ชนะแม้กระทั่งหลังชก

ผู้แพ้อย่าง ไทสัน กลับห้องพักอย่างไม่สบอารมณ์ ไม่มีสาวใช้ ไม่มีโสเภณี และไม่มีแม้กระทั่งเข็มขัดแชมป์ เขากล่าวอ้างว่าหนนี้เขาถูกปล้นและไม่เชื่อว่าตัวเองจะเป็นฝ่ายแพ้

Boxing-58

“ผมรู้ว่าพระเจ้าไม่มีทางเลือกเจ้าสัตว์ตัวเล็กๆ พวกนี้หรอก มีแต่สัตว์ใหญ่เท่านั้นที่ควรได้อยู่เคียงข้างบัลลังก์ของพระเจ้า เหตุผลที่ผมแพ้อาจจะเพราะว่าผมเป็นสัตว์ที่ตัวใหญ่เกินไป เกินไปจนกระทั่งพระเจ้ายังอิจฉา” ไทสัน เปรียบเปรยการต่อสู้ครั้งดังกล่าว

อย่างไรก็ตามทุกคนไม่ได้ให้ความสำคัญกับ ไทสัน มากนัก สตอรี่ของ ดักลาส ต่างหากที่น่าฟังมากกว่า โลกเริ่มอยากรู้จักเขาขึ้นมาบ้างแล้ว หลายคนถามว่า “การเสียชีวิตของแม่ส่งพลังให้คุณแบบไหน?” ซึ่ง ดักลาส ตอบได้อย่างไม่ลังเลเลยว่า “มากอย่างที่สุด”

“วันหนึ่งผมร้องไห้กลับมาที่บ้าน แม่ถามว่า ‘เกิดอะไรขึ้น’ ผมเลยตอบว่า ‘มีเด็กมันกระโดดขึ้นตัวมาต่อยผม’ เท่านั้นแหละ แม่ของผมเหวี่ยงผมลงกับพื้น จากนั้นเธอเอาเข่ามากดที่หน้าอกของผมและบอกว่า ‘จำไว้ เจมส์ ถ้าแกยังปล่อยให้ไอ้เด็กพวกนั้นรังแกแล้วไม่ยอมสวนพวกมันกลับบ้าง แกก็ต้องมาสู้กับแม่แบบนี้แหละ'” เขาเริ่มเผยความหลัง

เธอไม่ได้โหดกับลูกชาย เธอไม่ใช่แม่ใจยักษ์ เธอแค่อยากสอนให้ ดักลาส สู้เพื่อตัวเองบ้าง เพราะช่วง 10-11 ขวบ เขามักจะโดนเพื่อนแกล้งเป็นประจำ และการยื่นคำขาดนั้นทำให้ ดักลาส เริ่มกำหมัดเป็นครั้งแรก เขาใช้มันเพื่อป้องกันตัวในวัยเด็ก และใช้มันคว้าแชมป์โลกในวัย 30 ปี 

“แม่คือชีวิตของผม เธอเสียชีวิตไป 3 สัปดาห์ก่อนที่ผมจะชกกับ ไทสัน นั่นคือเหตุผลที่วันนั้นทำไมผมจึงพีกที่สุด เก่งที่สุด และทำได้ดีที่สุดในฐานะนักมวยคนหนึ่ง ผมไม่สามารถขออะไรได้มากกว่านี้แล้ว นี่คือสิ่งที่ผมอยากให้ทุกคนจดจำผม ได้มองมาที่ผม ว่าผมคือสุภาพบุรุษที่เชื่อมั่นในตัวเอง ผมอ่อนน้อมถ่อมตนทุกครั้งที่มีโอกาส และผมจะใช้สิ่งที่ผมมีให้เป็นประโยชน์”

ก่อนที่ ลูล่า จะจากไป 1 สัปดาห์ เธอเดินทางมาเยี่ยม ดักลาส ขณะที่ตัวของเธอเองป่วยหนักอยู่ แต่ก็ยังรวบรวมพลังทั้งหมดเพื่อมาเห็นหน้าลูกชายและส่งพลังทั้งหมดที่มีทั้งหมดให้กับ บัสเตอร์ ดักลาส สำหรับไฟต์เปลี่ยนชีวิต …

“แม่อายุ 46 ผมอายุ 29 มันยากนะที่จะยอมรับและหาทางไปต่อกับชีวิต แต่ในทางเดียวกันมันทำให้ผมกลายเป็นลูกผู้ชายที่แข็งแกร่งขึ้นหลายเท่าเหมือนกัน … เชื่อไหมผมไม่เคยสงสัยในตัวเองเลยหลังจากนั้น ผมมั่นใจในทุกการฝึกซ้อม ผมนับวันรอที่จะได้ชกกับ ไมค์ ผมกลัวอย่างเดียวว่าเขาจะได้รับบาดเจ็บจนไฟต์ต้องเลื่อนไป ผมกระสับกระส่ายเฝ้ารอให้ถึงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน” … และเขาก็ไม่เสียแรงรอในท้ายที่สุด

ดักลาส หอบเข็มขัดแชมป์โลกกลับ โคลัมบัส บ้านเกิด โดยมีคนมารอรับกันอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง

“ไม่รู้สิ … ระหว่างอยู่บริเวณรันเวย์ผมถามครอบครัวผมนะ คนพวกนี้มารอใครกัน? และสุดท้ายผมก็ได้รู้ว่าพวกเขามารอผมนี่แหละ” เขายิ้ม 

Boxing-59

ทุกอย่างเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วหลังจาก ดักลาส แย่งเข็มขัดแชมป์มาได้ โลกของมวยรุ่นเฮฟวี่เวตก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป … ไมค์ ไทสัน หลุดฟอร์มเละเทะแถมยังมีเรื่องติดคุกติดตาราง ขณะที่เข็มขัดแชมป์โลกก็หมุนเวียนเปลี่ยนเจ้าของไปมากหน้าหลายตา

แม้ว่า เจมส์ “บัสเตอร์” ดักลาส จะเป็นแค่คนหนึ่งที่เคยถือเข็มขัดแชมป์โลก 3 เส้น แต่อย่างน้อยๆ เรื่องราวในวันที่เขาคว้ามันมาครองได้ก็เป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่และกลายเป็นตำนานของโลกแห่งหมัดมวยจนถึงทุกวันนี้