Tag Archives: นักชกเม็กซิกัน

เลือดใหม่แยกแผ่นดิน : เหตุผลที่ “เดอ ลา โฮย่า” เป็นนักชกเม็กซิกันที่คนท้องถิ่นรักไม่ลง

Boxing-60

เม็กซิโก คือประเทศที่มีนักมวยสากลระดับโลกที่ไปถึงระดับแชมเปี้ยนมากกว่า 250 ราย ทุกคนมีอัตลักษณ์ในการชกที่แตกต่างจากนักมวยชาติอื่นอย่างชัดเจน

ไม่ว่าพวกเขาจะเกิดที่ส่วนไหนของประเทศ นักมวยจากแดนจังโก้ จะมีสไตล์ที่เรียกว่า “ชกแบบเม็กซิกัน” นั่นคือพวกเขาไม่กลัวใคร พวกเขาใจกล้า เด็ดเดี่ยว พร้อมฝ่าเข้าไปชนหมัดของคู่ต่อสู้เพื่อแลกกับการได้ชกกลับและปิดเกม

#MainStand : เม็กซิโก คือประเทศที่มีนักมวยสากลระดับโลกที่ไปถึงระดับแชมเปี้ยนมากกว่า 250 ราย…

Posted by Main Stand on Friday, August 23, 2019

แม้กระทั่งนักมวยเม็กซิกันที่เกิดในสหรัฐอเมริกา หลายคนก็ไม่อาจจะทิ้งสไตล์นี้ได้ ขอแค่คุณมีเชื้อสายเม็กซิกัน และต่อยแบบเม็กซิกัน ชาวเม็กซิกันก็จะรักคุณ … ยกเว้นนักชกหนึ่งเดียว ออสการ์ เดอ ลา โฮย่า 

ชาวเม็กซิกันไม่ได้สนว่าเขาคว้าเหรียญทองโอลิมปิกให้สหรัฐอเมริกาในปี 1992 แต่พวกเขามีเหตุผลที่ว่าต่อให้ “โกลเด้น บอย” เก่งแค่ไหน และมีเชื้อสายเม็กซิกันไหลเวียนในตัวมากเท่าไร เดอ ลา โฮย่า ก็ถือเป็นเส้นขนานกับชาวเม็กซิกันอยู่ดี… อะไรทำให้มันเป็นแบบนั้น

เม็กซิกัน ที่เติบโตมาแบบ อเมริกัน

มันไม่ใช่การหาเหตุผลที่ยากเย็นเกินไปนัก ที่ชาวเม็กซิกันจะทิ้งถิ่นฐานบ้านเกิดและข้ามดินแดนมาแสวงโชคดังแผ่นดินใหญ่ที่ศิวิไลซ์กว่าอย่าง “สหรัฐอเมริกา” ที่ซึ่ง มีงาน มีเงิน และมีโอกาส รออยู่ สิ่งที่ขวางกั้นชาวเม็กซิกันสู่อเมริกามีเพียง แนวชายแดนความยาว 1,933 ไมล์ ที่ตัดผ่านชุมชน, แม่น้ำ ตลอดจนภูมิประเทศอันรกร้าง ของรัฐแคลิฟอร์เนีย, แอริโซนา, นิวเม็กซิโก และเท็กซัส

Boxing-61

และถึงแม้ว่าที่สุดแล้ว พวกเขายังไม่รู้ว่าตัวเองจะประสบความสำเร็จหรือไม่ แต่มันก็คุ้มที่จะแลก ดังนั้นตัวเลขของผู้อพยพจากเม็กซิโก เข้าสู่ อเมริกา จึงมากระดับ 100,000 คนเป็นอย่างน้อยในทุกปี และนั่นคือเหตุผลที่ว่าทำไม มวยฝีมือชาวเม็กซิกัน จึงซ่อนตัวอยู่ภายในรัฐ เท็กซัส หรือ แคลิฟอร์เนีย มากมายนัก ล่าสุดคือ แอนดี้ รุยซ์ จูเนียร์ ที่คว้าแชมป์โลกรุ่นเฮฟวี่เวตจากการคว่ำ แอนโธนี่ โจชัว ได้เมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา ซึ่งตัวของ รุยซ์ เองก็เป็นลูกชาวเม็กซิกันอพยพที่เกิดใน แคลิฟอร์เนีย เช่นกัน

ทว่าหนึ่งในคนที่ทำให้เกิดสงครามย่อมๆ ระหว่างชาวเม็กซิกันคือ ออสการ์ เดอ ลา โฮย่า ที่เป็นลูกของผู้อพยพชาวเม็กซิกัน พ่อและแม่ของเขา โจเอล และ เซซิเลีย มีเชื้อสายเม็กซิกันเต็ม 100% 

ตัวของ เดอ ลา โฮย่า นั้นได้เชื้อสาย เม็กซิกัน-อเมริกัน ตั้งแต่เกิด โดยย่านที่เขาอาศัยก็ไม่ต่างกันกับที่ เม็กซิโก มากนัก เดอ ลา โฮย่า โดนกลั่นแกล้งจากเด็กร่วมรุ่นและต้องวิ่งมาร้องไห้ที่บ้านแทบทุกวัน 

โจเอล พ่อของเขานั้นเป็นอดีตนักชกอาชีพ และผู้เป็นพ่อพยายามสอนลูกชายเป็นสำนวนเม็กซิกันเสมอว่า “Los Hombres no lloran” (ลูกผู้ชายต้องไม่ร้องไห้) นั่นคือจุดเปลี่ยนที่ทำให้ เดอ ลา โฮย่า เริ่มต้นบนเส้นทางสายนักสู้และคิดจะสู้คนในฐานะลูกผู้ชายคนหนึ่งขึ้นมาบ้าง

ทุกครั้งที่ลงนวมกับ โจเอล จูเนียร์ (พี่ชาย) เดอ ลา โฮย่า มักจะออกอาการใจฝ่อยกมือปัดป้องและสุดท้ายก็โดนชกจนร้องไห้เป็นประจำ ดังนั้น โจเอล จึงไม่ได้หวังว่า เดอ ลา โฮย่า จะเก่งกาจอะไร ขอแค่ให้พอมีวิชาติดตัวบ้างก็พอแล้ว

“ออสการ์ เกลียดการต่อสู้แบบใช้ร่างกายเข้าปะทะ เขาไม่เคยต่อยกับเด็กคนอื่นๆ ตามข้างถนน เขาใช้เวลาส่วนใหญ่กับการเล่นสเก็ตบอร์ดและเบสบอลมากกว่า ไม่มีอะไรรุนแรงมากนักในวัยเด็กของเขา” โจเอล จูเนียร์ ผู้เป็นพี่ชายเล่าถึง ออสการ์ เดอ ลา โฮย่า กับกิจวัตรประจำวันแบบเด็กอเมริกันทั่วไป

แชมป์โอลิมปิกของชาวอเมริกา

อย่างไรก็ตามคนเราเปลี่ยนกันได้ เขาถูกพ่อและพี่ชายจับเคี่ยวเข้าโรงยิมอย่างต่อเนื่อง และบ่อยๆ เข้าก็กลายเป็นความชอบ เพราะนอกจากจะทำให้เขาถูกรังแกน้อยลงแล้วมันยังทำให้ เดอ ลา โฮย่า ได้รับรางวัลจากสมาชิกในครอบครัวด้วย

Boxing-62

“ผมเริ่มคิดว่าผมอยากจะแข็งแกร่งและไม่ต้องร้องไห้ แรงจูงใจของผมคืออยากจะเก่งขึ้นเพื่อครอบครัวของเรา ทุกครั้งที่ผมต่อยและเอาชนะได้ ญาติๆ จะให้เงินรางวัล 1 ดอลลาร์บ้าง, 50 เซนต์บ้าง บางที 25 เซนต์ยังมี”

จุดเริ่มต้นเล็กๆ ทำให้ เดอ ลาโฮย่า เริ่มคลั่งมวยมากขึ้น คือนักมวยขวัญใจของเขา ชูการ์ เรย์ เลียวนาร์ด เจ้าของเหรียญทองโอลิมปิกปี 1976 ซึ่งตัวของ เดอ ลา โฮย่า ทุ่มเทกับการซ้อมมากขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นมือ 1 ของฝั่งแคลิฟอร์เนียและยังคว้าแชมป์จูเนียร์โอลิมปิกมาแล้วในปี 1988 พร้อมพ่วงรางวัลนวมทองคำ (สำหรับนักชกสมัครเล่น) ในเวลาต่อมาด้วย 

ปี 1992 เดอ ลา โฮย่า สามารถคัดตัวไปชกในฐานะตัวแทนทีมชาติสหรัฐอเมริกา รุ่นไลท์เวต ณ โอลิมปิกที่ บาร์เซโลน่า ได้ อย่างไรก็ตามไม่มีชาวอเมริกันคนไหนคาดหวังในตัวของเขามากนัก  เพราะเขาถือว่ายังใหม่มากในการแข่งระดับโอลิมปิกทว่ากลับกลายเป็น เดอ ลา โฮย่า เพียงคนเดียวที่สุดท้ายแล้วคว้าเหรียญทองกลับสู่แดนลุงแซมได้

Boxing-63

หลังจากเอาชนะคู่ชิงอย่าง มาร์โก รูดอล์ฟ จาก เยอรมันได้ เดอ ลาโฮย่า รีบไปเข้ามุมและขอธง 2 ชาติทั้ง อเมริกา และ เม็กซิโก จากพี่เลี้ยงเพื่อขึ้นมาสะบัดและบอกให้โลกรู้ว่าเขาคือความภูมิใจของทั้งสองประเทศ … อย่างไรก็ตามชาว เม็กซิกัน กลับไม่คิดแบบนั้น

นักมวยฉบับอเมริกันเกมส์

หลังจากเริ่มมีชื่อเสียง ออสการ์ เดอ ลา โฮย่า ก็ตัดสินใจเทิร์นโปรและอยู่ภายใต้สังกัดของ บ็อบ อารัม โปรโมเตอร์ชื่อดัง ซึ่งนั่นคือการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในแง่ของภาพลักษณ์ เพราะ บ็อบ อารัม จะเปลี่ยนให้ เดอ ลา โฮย่า ครองใจทั้งแฟนๆ ฝั่งอเมริกาตามใบสัญชาติ และครองใจแฟนๆ ฝั่งเม็กซิโกตามเชื้อชาติของเขา ตามแบบฉบับสตาร์ของ อเมริกันเกมส์ นั้นคือต้องเก่งด้วย และขายได้ด้วยในเวลาเดียวกัน

Boxing-64

เดอ ลา โฮย่า เริ่มเก็บชั่วโมงบินในระดับการชกอาชีพด้วยการสอยนักชกจากทั่วโลกทั้ง อเมริกา, ฮอนดูรัส, เม็กซิโก และ คิวบา ชัยชนะส่วนใหญ่เป็นชัยชนะด้วยการน็อค และครั้นจะให้นับคะแนนหน้าตาของเขาก็แจ่มใสเหมือนกับคนที่ไม่ได้ขึ้นชกเลยด้วยซ้ำ ภาพลักษณ์ดังกล่าวทำให้เขาถูกเรียกว่า “พริตตี้บอย” (ไอ้หน้าหล่อ)

“ธรรมชาติของนักมวยทีดีนั้นต้องดีตั้งแต่แนวคิด รวมถึงการวางตัวให้เป็นขวัญใจมหาชนให้ได้ เหมือนกับ อาลี นั่นแหละที่ครองใจทุกคนได้ ออสการ์ เป็นหนุ่มหล่อ พูดได้สองภาษา ชื่อเสียงโด่งดังและไร้มลทิน ที่สำคัญคือเขาเป็นคนที่ทำงานหนักมาก และในอนาคตคุณจะได้เห็นเขาตีตลาดในประเทศนี้ (อเมริกา)” นี่คือแผนที่ทีมโปรโมเตอร์วางไว้ อ้างอิงโดย เลจห์ สไตน์เบิร์ก ที่ปรึกษาของ เดอ ลา โฮย่า ในสมัยนั้น

เรื่องมันไม่ยุ่งยากและเป็นไปตามแผนที่วางไว้ สื่อมวลชนหลายเจ้าชอบใจในภาพลักษณ์ทั้งหมดที่วางไว้ โดยเฉพาะอย่ายิ่งในปี 1995 ที่ เดอ ลา โฮย่า คว้ารางวัลนักชกยอดเยี่ยมแห่งปีไปครองอีกด้วย

เมื่อชื่อเสียงของ เดอ ลา โฮย่า ขึ้นมาถึงขีดสุดก็ได้เวลาที่ บ็อบ อารัม จะท้าชนกับโปรโมเตอร์อีกขั้ว นั่นคือฝั่งของ ดอน คิง ที่มีนักมวยเม็กซิกันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งยุคอยู่ในสังกัด นั่นคือ ฮูลิโอ เซซาร์ ชาเวซ และไฟต์ดังกล่าวถูกกำหนดไว้ในปี 1996 ที่รัฐเนวาด้า สหรัฐอเมริกา

ดูเผินๆ นี่อาจจะเป็นแค่มวยไฟต์ใหญ่ที่เอานักมวยขาขึ้นมาต่อยกับตำนานที่กำลังอยู่ในช่วงปลายอาชีพ แต่สำหรับชาวเม็กซิกันแล้ว นี่คือไฟต์ที่พวกเขาตั้งตารอให้ ชาเวซ สอนเชิงเจ้าของเหรียญทองโอลิมปิกให้ได้โดยไว

สัญญาณเตือนก่อนชก 

เสียงโห่ร้องดังระงมไปทั่วตั้งแต่การทัวร์โปรโมตไฟต์นี้ 2 นักสู้เดินทางไปหลายเมืองทั้ง ฟีนิกซ์, ซาน ดิเอโก้ และ ลอส แอนเจลิส ซึ่งเป็นถิ่นฐานของคนเชื้อสายเม็กซิกัน ว่าง่ายๆ การโหมโรงนี้เหมือนกับการบอกว่าไฟต์ดังกล่าวจะเป็นไฟต์ที่ชิงความเป็นหนึ่งของวงการมวยเม็กซิโก ซึ่งเสียงโห่ส่วนใหญ่เป็นของฝั่ง เดอ ลา โฮย่า และเขาเองก็แปลกใจว่าเขาผิดอะไร?

Boxing-65

“มันแปลกดีเหมือนกัน ทั้งๆ ที่ผมเป็น “โกลเด้น บอย” แต่ทุกคนกลับอยู่ข้างเขา (ชาเวซ) ผมก็ไม่เข้าใจว่าผมทำอะไรผิด วันที่ผมได้เหรียญทองที่ บาร์เซโลน่า ผมเองก็ชูธงของทั้งสองประเทศด้วยมือของผมเอง แต่เมื่อผมเซ็นสัญญาจะต้องชกกับ ชาเวซ ทุกอย่างก็ย่ำแย่ไปหมด ผมโดนขู่ฆ่าด้วยนะเผื่อใครยังไม่รู้” เดอ ลา โฮย่า เล่าถึงความผิดปกติที่เขาสัมผัสได้

อย่างไรก็ตามการสัมภาษณ์ครั้งต่อๆ มากลับยิ่งทำให้ความน่าดูของไฟต์นี้เพิ่มขึ้น เดอ ลา โฮย่า บอกว่าจะน็อคเอาต์ ชาเวซ ให้ได้ และเขาเองไม่ได้หวังแค่จะเป็นยอดนักมวย แต่ตั้งเป้าไว้ที่การเป็นตำนานนักสู้อะไรแบบนั้น 

การแสดงออกของ เดอ ลา โฮย่า เหมือนกับคำนิยมที่เรียกกันว่า “อเมริกัน ดรีม” นั่นคือเกิดมาแล้วต้องไปให้สุด คว้าทุกโอกาสที่เข้ามาเพื่อความยิ่งใหญ่ และไม่สนว่าจะต้องเจอกับอุปสรรคอะไรก็ตาม เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ง่ายๆ สำหรับชาวเม็กซิกันที่อพยพเข้ามาในอเมริกา พวกเขาอยากจะมี อเมริกัน ดรีม กันทุกคน และนั่นคือเหตุผลที่ว่าทำไมกลุ่มชาวเชื้อสาย “เม็กซิกัน-อเมริกัน” จึงมองว่าการต่อยกันของทั้งคู่ก็แค่เรื่องธรรมดาของการชกมวยเท่านั้น

แต่สำหรับชาวเม็กซิกันที่อาศัยอยู่ในเม็กซิโก พวกเขาไม่ได้คิดว่ามันเป็นแค่มวย ไฟต์นี้ยิ่งใหญ่มากและมันเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงความขัดแย้งทางวัฒนธรรมเลยทีเดียว

เม็กซิกัน 2 ก๊ก 

“การชกครั้งนี้มีปรากฎการณ์เกิดขึ้น เพราะมันทำให้มันมีการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายออกเป็น 2 พวกนั่นคือเสียงของฝั่ง “เม็กซิกัน-อเมริกัน” และฝั่งของชาว “เม็กซิกันเต็ม 100%” นี่คือมุมมองของ ซามูเอล เรกัลญาโด้ ศาสตราจารย์วิชาประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัย แคลิฟอร์เนีย ชี้ให้เห็นอีกนัยยะหนึ่ง

Boxing-66

“ทำไมถึงเป็นแบบนั้น? ย้อนกลับไปมันเริ่มตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 คนเม็กซิกันไม่เคยนับพวกอพยพเข้าไปในอเมริกาและถือสองสัญชาติ (เม็กซิกัน-อเมริกัน) เป็นพวกเดียวกับพวกเขา ไฟต์ระหว่าง ชาเวซ และ เดอ ลา โฮย่า ทำให้ชุมชนชาวเม็กซิกันตึงเครียดและซับซ้อนในเวลานั้น” เขากล่าวเสริม

แน่นอน เดอ ลา โฮย่า ครองหัวใจแฟนฝั่งอเมริกัน และ เม็กซิกัน-อเมริกัน ส่วน ชาเวซ นั้นไม่ต้องพูดถึงเขาต่างกับ เดอ ลา โฮย่า สุดขั้ว เขาภูมิใจในความเป็นเม็กซิกันของตัวเองเป็นอย่างมาก และที่สำคัญคือเขาไม่พูดภาษาอังกฤษด้วย ภาษาสเปนเท่านั้นที่ ชาเวซ จะพูดในการให้สัมภาษณ์ นั่นทำให้เขาเป็นตัวแทนของชาวเม็กซิกันท้องถิ่นอย่างแท้จริง 

ซึ่งลึกๆ แล้ว ชาวเม็กซิกันมักจะโดนดูแคลนจากชาวอเมริกันอยู่เสมอจนมีคำที่กำเนิดขึ้นใหม่ว่า “เม็กซิกัน จ็อบ” ที่ชาวอเมริกันใช้เรียกงานประเภทต้องคลุกคลีกับความสกปรกทั้ง ล้างจาน, ซักผ้า หรือก่อสร้าง อะไรแบบนั้น ซึ่งนั่นคือสิ่งที่พวกเขาไม่ชอบใจ 

ความต่างกันมากของทั้งสองคนคือ เดอ ลา โฮยา อาจจะเติบโตในชุมชนเม็กซิกันที่ ลอส แอนเจลิส แต่เขาทิ้งรากเหง้าของตัวเองไปแล้ว เขามุ่งเข้าสู่ชีวิตความเป็นอยู่แบบอเมริกันเต็มตัวด้วยการพยายามพรีเซนต์ตัวเองให้เป็นดารามากกว่าเป็นนักชกเหมือนกับ ชาเวซ … เรื่องวัฒนธรรมตัดทิ้งไปได้เลย ความยิ่งใหญ่เท่านั้นที่ เดอ ลา โฮย่า ต้องการ 

“เดอ ลา โฮย่า เป็นต้นแบบของ อเมริกัน ดรีม และเขาก็ไม่ค่อยสบอารมณ์นักที่โดนแฟนเม็กซิกันโห่และไม่ยอมรับ ซึ่งเขามักจะสวนด้วยแนวคิดที่ว่า ‘แล้วจะทำไม คุณจะให้ผมอยู่ในกระท่อมไปตลอดชีวิตงั้นเหรอ? ทำไมไม่ยอมออกไปหาสิ่งที่ดีกับตัวเองล่ะ?'” ซามูเอล เรกัลญาโด้ ขยายความเรื่องนี้ให้ชัดขึ้นอีก 

และเมื่อฝั่ง ชาเวซ ได้พูด เขาทำเรื่องนี้ให้ชัดเจนขึ้นอีกว่าไฟต์นี้คือการแบ่งข้าง… “ผมคือสายเลือดและเป็นชาวเม็กซิกันตัวจริง ส่วนเขา (เดอ ลา โฮย่า) ไม่ใช่ เขาเป็นคนอเมริกันไปแล้ว” ชาเวซ กล่าวก่อนขึ้นชก

หลังชกผมก็ยังไม่เข้าใจอยู่ดี?

ไฟต์ดังกล่าวไม่ได้ฉิวเฉียดอะไรนัก ชาเวซ โดน เดอ ลา โฮย่า ที่สดกว่า ใหม่กว่า หนักกว่า วางหมัดและน็อคตั้งแต่ยกที่ 4 ซึ่งนั่นคือผลแห่งความพยายามของ เดอ ลา โฮย่า ที่ต้องการสยบ ชาเวซ เพื่อความยิ่งใหญ่ ว่ากันว่าเขาเต็มที่กับการซ้อมมาก เขาไม่ดื่มแอลกอฮอล์เลยตลอด 3 เดือนก่อนขึ้นชก

Boxing-67

“ตอนชกผมเห็นแผลของเขาเปิด และผมพยายามใจเย็น โฟกัสกับเรื่อง ณ ปัจจุบันให้ได้ก่อน แม้ ฮูลิโอ เซซาร์ ชาเวซ จะเป็นไอดอลของผม แต่งานของผมคือน็อคเขาให้ได้ ผมไม่มีความรู้สึกใดๆ กับเขาเมื่อขึ้นเวที”

เดอ ลา โฮย่า ป้องกันแชมป์ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการย้ำแค้น ชาเวซ อีกครั้งในปี 1998 และยังมั่นคงในแนวทางเดิม เขากลายเป็นยอดมวยในเวลาต่อมา และในอีกด้านหนึ่งเขายังเป็น “โกลเด้น บอย” ของจริง เพราะในปี 2000 เขาเข้าสู่วงการบันเทิงและออกซิงเกิลที่ชื่อว่า “Run To Me” แน่นอนว่าเนื้อร้องนั้นเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมดและมันประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งด้วย ชีวิตประจำวันของเขาดูหรูหราใส่สูทราคาแพงพูดคุยธุรกิจ และหาเวลาว่าไปตีกอล์ฟ เขาเป็นแบบนั้นเสมอมาจนทุกวันนี้ 

เขายังคงสงสัยในเรื่องเดิมแม้ไฟต์ๆ นั้นจะจบลงไปแล้ว มันคือไฟต์ที่เปลี่ยนเรื่องราวมากมายรอบตัวของเขาและทำให้รู้ว่าเรื่องการชกระหว่างเขาและ ชาเวซ เป็นอะไรที่ละเอียดอ่อนมาก ซึ่งตัวของ เดอ ลา โฮย่า เติบโตมาอีกแบบ เขาต้องการแค่ชนะก็เท่านั้น เรื่องวัฒนธรรมและความแตกแยกไม่น่าเป็นส่วนหนึ่งกับการชกได้

“มันเป็นการต่อสู้ที่ทำให้ผมสงสัยในตัวเองนะว่าที่สุดแล้ว ‘ผมเป็นใคร?’ ตัวตนและรากเหง้าของผมหายไปที่อเมริกาหรือก็ไม่น่าใช่ ผมมีเชื้อสายของชาวเม็กซิกันไหลเวียนในตัว” 

“แต่แน่นอนผมก็ต้องภูมิใจในความเป็นอเมริกา ประเทศที่ทำให้ผมมีทุกสิ่งทุกอย่างในตอนนี้ ไฟต์นั้นถือเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบาก ผมรู้สึกกดดันเพราะมันคือการปะทะของวัฒนธรรมครั้งใหญ่”

“ผมถูกมองเป็นตัวร้ายเพราะว่าเกิดที่อเมริกา ส่วนชาเวซเป็นพระเอกเพราะเป็นเม็กซิกัน คิดดูแล้วกัน ตอนที่ผมชนะเขา คนในครอบครัวผมยังมาบอกกับผมเลยว่า ‘แกจะมาชนะฮีโร่ของเราทำไมวะ’ เชื่อไหมล่ะ ครอบครัวของผมยังหงุดหงิดกับชัยชนะของผมเลย” 

Boxing-68

ที่สุดแล้วความตึงเครียด และเส้นแบ่งระหว่างวัฒนธรรมกับความแตกแยกที่ถูกตัดสินผ่านการชกของ เดอ ลา โฮย่า ของ ชาเวซ ก็ค่อยๆ หายไปตามกาลเวลา … เหลือเพียงประเด็นเดิมๆ ที่ถูกเอาไปอ้างอิงกับบริบทใหม่ๆ ในปัจจุบัน อย่างเรื่องที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีของ สหรัฐอเมริกา พยายามที่จะเล่นงาน เม็กซิโก เหมือนกับลูกไก่ในกำมือ ด้วยนโยบายเพิ่มภาษีสินค้าจากเม็กซิโกอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย เริ่มต้นที่ร้อยละ 5 เพื่อเป็นการลงโทษและกดดันที่ชาติเพื่อนบ้านไม่พยายามแก้ไขปัญหาผู้อพยพให้มีประสิทธิภาพเพียงพอ รวมถึงแนวคิด “สร้างกำแพงปิดพรมแดน” … แน่นอนเรื่องนี้ทำให้เกิดความแบ่งแยกและเกลียดชังยิ่งกว่าที่ เดอ ลา โฮย่า เคยทำไว้หลายเท่า

กว่าที่ทุกคนจะเข้าใจได้ว่า เดอ ลา โฮย่า ก็แค่ทำในสิ่งที่เขาต้องทำ “โกลเด้น บอย” ก็ต้องกลายเป็นแพะรับบาปอยู่นานหลายปี ตัวเขาเองไม่เคยเกลียดสายเลือดเม็กซิกันแม้แต่น้อย แค่บทบาทในเวลานั้นมันถูกวางให้ลงล็อกพอดิบพอดีเท่านั้นเอง

“ผมรู้สึกเป็นเกียรติและภูมิใจเสมอที่ได้อยู่ในสังเวียนเดียวกับฮีโร่ในวัยเด็กของผม … มันเป็นชะตากรรมที่ผมจะต้องเผชิญหน้ากับ ชาเวซ บนสังเวียน”

“มันคือการผลัดเปลี่ยนจากยุคเก่าสู่ยุคใหม่และทำให้ผมก้าวขึ้นสู่ความนิยมอีกหนึ่งระดับ ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วผมก็เป็นคนเดิมของผมอย่างนี้ ไม่เคยเปลี่ยนแปลงอะไรเลยแม้แต่น้อย”

เดอ ลา โฮย่า กล่าวทิ้งท้าย