Hajime no Ippo หรือ ก้าวแรกสู่สังเวียน นั้นทุกคนรู้ดีว่า มาคุโนอุจิ อิปโป เด็กหนุ่มพระเอกของเรื่องมีท่าไม้ตายประจำตัวที่ชื่อว่า “เด็มพ์ซี่ย์ โรล” (Dempsey Roll) ที่ส่งเขาคว้าชัยในศึกแล้วศึกเล่า อย่างไรก็ตามมีอีก 1 ท่าไม้ตายที่เขามักจะใช้ประจำนั่นคือ “กาเซล พันช์” (Gazelle Punch) ซึ่งหมัดนี้มีที่มาในโลกแห่งมวยสากลอาชีพจริงๆ
“กาเซล พันช์” คือท่าไม้ตายที่กระแทกหน้าทีเดียวคนโดนชกปลิวเหมือนกับโดนสิบล้อชนได้ง่ายๆ… ทว่า กาเซล พันช์ ในโลกแห่งความจริงนั้นเป็นเช่นไร? และมีตำนานอะไรซ่อนอยู่ภายใต้หมัดสิบล้อชนนี้กันแน่?
ทำไมต้องชื่อ กาเซล พันช์?
หากให้แปลตรงตัวแบบกำปั้นทุบดิน กาเซล พันช์ นั้นแปลว่า “หมัดละมั่ง” ใช่แล้ว คำว่า “กาเซล” ไม่ได้มาจากชื่อคนเหมือนอย่างท่า เด็มพ์ซี่ย์ โรลล์ ที่ได้มาจาก แจ็ค เด็มพ์ซี่ย์ แต่อย่างใด ซึ่งเหตุผลที่ต้องเอาละมั่งมาเปรียบเทียบนั้น เกิดขึ้นจากการที่ท่านี้ต้องใช้พลังขาผนวกเข้ากับกำลังหมัดเป็นอย่างมาก
ละมั่ง นั้นเป็นสัตวจำพวกกวาง จุดเด่นของมันคือพละกำลังกล้ามเนื้อขาที่ถึงแม้จะเล็กแต่ก็ทรงพลัง ละมั่งที่โตเต็มวัยสามารถดีดตัวได้สูงเกิน 2 เมตร เพื่อใช้เป็นท่าไม้ตายในการเอาตัวรอดยามเผชิญหน้ากับสัตว์นักล่านั่นเอง อย่างไรก็ตาม ก็มีหลายครั้งที่ท่านี้ถูกเรียกว่า “หมัดจิงโจ้” (Kangaroo Punch) เพราะท่าดังกล่าวก็สอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของจิงโจ้เช่นกัน
การใช้พละกำลังจากขาถูกผูกเข้ามาเป็นหนึ่งในท่าไม้ตายในวงการมวยในช่วงประมาณยุค ’50s คนแรกที่นำมาใช้คือ ร็อคกี้ มาร์เซียโน่ นักมวยไม่กี่คนบนโลกนี้ที่ไร้พ่ายตั้งแต่วันแรกที่เทิร์นโปรจนกระทั่งวันเกษียณ เขาคนนี้คือคนที่ มูฮัมหมัด อาลี นักชกเฮฟวี่เวตที่ถูกยกให้ว่าเก่งที่สุดตลอดกาลยังยอมรับว่า “ผมไม่รู้จะเอาชนะเขาได้หรือเปล่า?”
หากจะเท้าความว่าทำไม มาร์เซียโน่ จึงต้องคิดค้นท่า กาเซล พันช์ ขึ้นมาคงต้องย้อนกลับไปตั้งแต่สมัยยังเป็นวัยรุ่น เขาชื่นชอบการเล่นเบสบอลมาก แม้จะฝีมือดี แต่แขนของเขาไม่มีพลังมากพอเมื่อเทียบกับคนอื่นๆ จนท้ายที่สุดก็ต้องเลิกนั่นทำให้เขาหันมาเป็นนักมวยสากลสมัครเล่นหลังจากได้เข้าไปอยู่ในกองทัพอเมริกา
มาร์เซียโน่ เป็นนักมวยที่ตั้งรับไม่เป็นหรือเรียกง่ายๆ ว่าเป็นมวยไฟต์เตอร์จ๋า เดินหน้าฆ่ามันอย่างเดียวเท่านั้น เมื่อประกอบด้วยร่างกายที่เสียเปรียบด้วยความสูงแค่ 5 ฟุต 11 นิ้ว (179 เซนติเมตร) หนักแค่ 190 ปอนด์ (86 กิโลกรัม) พร้อมช่วงชกที่สั้นแค่ 68 นิ้ว (173 เซนติเมตร) ดังนั้นมันจึงจำเป็นมากที่เขาจะต้องมีหมัดเด็ดที่ใช้ปิดบัญชีคู่ชกได้จากการมุดเข้าวงใน และหลังจากที่เขาได้เทิร์นโปรในปี 1947 โลกก็ได้รู้จัก กาเซล พันช์ หรือ หมัดละมั่ง เป็นครั้งแรก
กาเซล พันช์ มีวิธีใช้ง่ายๆ เพียง 4 สเต็ปเท่านั้นได้แก่…
หนึ่ง ย่อเข่าลงเล็กน้อยเพื่อรอจังหวะหลบหมัดของคู่ต่อสู้
สอง ถ่ายเทน้ำหนักไปที่ขาทั้งสองข้าง
สาม บิดสะโพกเล็กน้อยเพื่อเสริมแรง ในขณะที่ง้างหมัดฮุกหรืออัพเปอร์คัต
และ สี่ ดีดตัวขึ้นมาพร้อมจู่โจมต่อเนื่อง สลับด้วยหมัดซ้ายที ขวาที พร้อมบิดสะโพกเสริมแรง เอาจนกว่าคู่ชกจะร่วง
สำหรับ ร็อคกี้ มาร์เซียโน่ นั้น กาเซล พันช์ คือท่าไม้ตายก้นหีบของเขา ด้วยพลังกำปั้นที่หนักหน่วงบวกกับเทคนิคเสริมพลังจากการยันตัวของร่างกายส่วนล่างทำให้ 16 ไฟต์แรกของการชกอาชีพ เขาไล่ถลุงคู่ชกจนได้ชนะน็อคทุกครั้ง และมีถึง 9 จาก 16 ไฟต์ที่น็อคคู่ชกได้ตั้งแต่ระฆังปิดยกที่ 1 ยังไม่ดังเลยทีเดียว
หมัดที่หนักหน่วงทำให้เขาได้ฉายาว่า “The Brockton Blockbuster” หรือที่คนไทยเรียกกันว่า “ไอ้หมัดภูผาหิน” ซึ่งตามมาด้วยสถิติชกชนะรวด 49 ไฟต์ และมีถึง 43 ไฟต์ที่เป็นการชนะน็อคเอาต์คู่แข่งอีกด้วย
แม้จะเลิกชกไปแต่ กาเซล พันช์ ก็กลายเป็นมรดกตกทอดในวงการมวยสืบไป หลังจากหมดยุคของเขาในปี 1955
เพราะหลังจากนั้นไม่นาน ฟลอยด์ แพ็ทเทอร์สัน ก็นำท่า กาเซล พันช์ มาใช้งานต่อและประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก เพราะตัวของ แพ็ทเทอร์สัน นั้นเป็นคนที่เคลื่อนไหวได้เร็วมากตั้งแต่ขั้นตอนแรก (ขั้นตอนการย่อเข่าหลบหมัดของคู่แข่ง) ดังนั้นเมื่อเริ่มต้นดี การดีดตัวเพื่อชกของเขาก็ยิ่งแรงเข้าไปอีก ก่อนจะปิดท้ายด้วยการชกแบบซ้ายทีขวาทีแบบแทบนับหมัดไม่ทัน นั่นคือเหตุผลที่ว่าทำไมจึงกลายเป็นนักมวยอายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ที่คว้าแชมป์โลกรุ่นเฮฟวี่เวตได้ (ก่อน ไมค์ ไทสัน จะมาทำลายสถิติในภายหลัง)
ความเร็วและความหนักในการใช้ กาเซล พันช์ ของ แพ็ทเทอร์สัน ถูกยกย่องว่าเขาเป็นผู้ใช้ท่าไม้ตายนี้ได้มีประสิทธิภาพที่สุดในประวัติศาสตร์อีกด้วย
นักชกรุ่นหลังๆ เรียนรู้วิธีเพิ่มพลังหมัดจากการใช้แรงส่งจากขาและร่างกายท่อนล่างของ มาร์เซียโน และแพทเทอร์สัน ไปสร้างชื่อเสียงได้มากมาย โดยเฉพาะไฟต์ในตำนานระหว่าง โจ เฟรเซียร์ กับ มูฮัมหมัด อาลี ในปี 1971 ที่ โจ เฟรเซียร์ นั้นใช้ กาเซล พันช์ มุดเข้าวงในและฮุกด้วยซ้ายใส่ อาลี จนร่วงในยก 15 และเป็นฝ่ายชนะคะแนนไปในท้ายที่สุด แต่สิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่านั้นคือนั่นคือครั้งแรกที่นักชกที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์อย่าง อาลี ต้องพบกับความพ่ายแพ้ในอาชีพนักรบสังเวียนผ้าใบ
แม้แต่อาลี ก็ยังร่วงได้ง่ายๆ ดังนั้นมันจึงเป็นเครื่องยืนยันได้อย่างดีว่า กาเซล พันช์ คือท่าไม้ตายที่ได้เรื่องได้ประสิทธิภาพอย่างแท้จริง และปัจจุบันยังมีนักชกหลายคนที่ใช้งานมันอยู่ หนึ่งในนั้นคือ วลาดิเมียร์ คลิทช์โก้ อดีตแชมป์โลกเฮฟวี่เวตชาวยูเครนนั่นเอง
กาเซล พันช์ มาถึง อิปโป ได้อย่างไร?
การได้ กาเซล พันช์ เป็นอาวุธทีเด็ดนั้นเกิดขึ้นจากการที่ อิปโป เป็นนักมวยตัวเล็กเสียเปรียบช่วงชก (จุดเริ่มต้นคล้ายๆ กับ ร็อคกี้ มาร์เซียโน่) จึงต้องหาท่าไม้ตายที่เล่นงานคู่ชกจากวงในและสุดท้ายก็มาค้นพบ กาเซล พันช์ นั่นเอง
ว่ากันตามความจริงแล้ว อิปโป นั้นไม่ใช่คนหมัดหนักโดยพรสวรรค์แต่อย่างใด เพราะมันเกิดจากการฝึกกล้ามเนื้อมาอย่างดีต่างหาก อิปโป เคยทำงานแบกหามบนเรือประมง อีกทั้งเมื่อเข้าระบบอาชีพเขาก็ยังเน้นการฝึกกล้ามเนื้อแบบเข้มข้นมาโดยตลอดตั้งแต่ตอนแรกๆ แล้ว
การฝึกท่า กาเซล พันช์ นั้นมีจุดเริ่มต้นมาจากตอนที่ 46 ที่ อิปโป เริ่มฝึกกล้ามเนื้อขาและชกกระสอบทรายเป็นครั้งแรก จนกระทั่งได้เอามันมาใช้ครั้งแรกกับ อเล็กซานเดอร์ วรูค ซานคีเยฟ แน่นอนว่าด้วยพลังขาที่พร้อมตั้งแต่สมัยทำงานอยู่บนเรือ บวกกับการฝึกกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ เพิ่มขึ้นอีกจึงทำให้ อิปโป ซัด วรูก ด้วย กาเซล พันช์ จนกระเด็นด้วยความรุนแรงราวกับโดนสิบล้อชนก็ไม่ปาน
อย่างไรก็ตามในเรื่องก็ยัง “เนิร์ฟ” กาเซล พันช์ ของ อิปโป ลงไปพอสมควร เพราะด้วยความรุนแรงระดับสิบล้อชน ผู้เขียนจึงจำกัดขีดความสามารถของ กาเซล พันช์ ด้วยการใส่ข้อแม้ไปว่า “ไม่อาจต่อยท่านี้รัวๆ ได้” เพราะจะส่งผลกับร่างกายของตัว อิปโป เอง
โลกการ์ตูน vs โลกความจริง
ทุกวันนี้ กาเซล พันช์ ยังคงเป็นท่าที่ทรงประสิทธิภาพไม่เปลี่ยนแปลง โดยท่านี้เหมาะกับเวลาที่ต้องดวลกับคู่ชกที่มีช่วงชกยาวกว่าและมีการออกอาวุธระยะไกลที่ดีกว่า เพราะการถีบตัวไปข้างหน้าแบบละมั่งนั้นหากทำได้ตามขั้นตอนและมีประสิทธิภาพแล้วยากที่ใครจะตั้งตัวทัน ยกตัวอย่างเช่นการที่ เฟรเซียร์ คว่ำ อาลี ตามที่กล่าวไปข้างต้นจะเห็นภาพชัดเจนที่สุด
เพราะ อาลี ในเวลานั้นที่ขึ้นชื่อว่าเป็นนักมวยที่มีฟุตเวิร์คดีที่สุดและรวดเร็วที่สุดถึงขั้นขนาดชกแบบไม่ต้องตั้งการ์ดก็ยังไม่สามารถตั้งตัวหมัด กาเซล พันช์ ของ เฟรเซียร์ ได้เลย
อย่างไรก็ตามทุกอย่างบนโลกนี้ไม่มีอะไรดี 100% และไม่ได้เรื่อง 100% กาเซล พันช์ เองก็เช่นกัน ในการ์ตูนนั้นอาจจะถูกอ้างอิงว่าร่างกายของผู้ใช้จะเสียหาย ทว่าในโลกแห่งความจริงนั้น กาเซล พันช์ ก็มีจุดอ่อนซ่อนอยู่ไม่ต่างกัน
Shortboxing เว็บไซต์เกี่ยวกับการวิเคราะห์พลังหมัดหรือการชกแบบต่างกล่าวว่า กาเซล พันช์ ไม่เหมาะอย่างยิ่งกับการเจอกับนักมวยสายตั้งรับ (เคาน์เตอร์ พันช์) หรือเรียกง่ายๆ ก็คือนักมวยที่ดักชกจังหวะสองเก่งๆ อาทิ ฟลอยด์ เมย์เวทเธอร์ จูเนียร์ ยอดฝีมือสายเคาน์เตอร์เหล่านี้จะมีโอกาสอ่านทางและปล่อยหมัดขวาตรง หรือซ้ายตรงใส่หน้าคนที่พยายามจะใช้ กาเซล พันช์ ได้ก่อนแน่นอน เพราะใช้ระยะในการออกหมัดที่สั้นและกินเวลาในการปล่อยหมัดน้อยกว่า
ตัวอย่างที่ชัดมากๆ อันหนึ่งคือไฟต์ในศึก UFC 194 ระหว่าง คอเนอร์ แม็คเกรเกอร์ กับ โฮเซ่ อัลโด้ ในปี 2015 อัลโด้ พยายามจะใช้การชกลักษะเดียวกับ กาเซล พันช์ ใช้พลังขาดีดตัวเข้าชก ทว่า แม็คเกรเกอร์ ยืนระยะดีพอที่จะอ่านทางออกก่อนและสวนเปรี้ยงทีเดียวเข้าที่หน้าเต็มๆ จน อัลโด้ หลับกลางอากาศเลยทีเดียว
จะเห็นได้ว่าเมื่อโลกและยุคสมัยของมวยเปลี่ยนไป กาเซล พันช์ นั้นโดนจับทางได้ในท้ายที่สุด ไม่มีใครที่เป็นมวยไฟต์เตอร์สายเดินหน้าฆ่ามันใช้ท่านี้คว่ำคู่ชกได้ง่ายๆ แบบที่ ร็อคกี้ มาร์เซียโน่ และ ฟลอยด์ แพ็ทเทอร์สัน เคยทำได้อีกแล้ว
ทว่า กาเซล พันช์ ได้กลับคืนสู่สามัญเหมือนกับความหมายตรงตัวกับคำแปลแบบกำปั้นทุบดินที่ว่า หมัดละมั่ง อย่างแท้จริง เพราะมันจะกลายเป็นทีเด็ดของมวยฝ่ายตั้งรับโดยปริยาย เหมือนกับที่ ละมั่ง ใช้หนีสัตว์นักล่านั่นแหละ พลังขาที่แข็งแรง และการรอจังหวะใช้พลังอย่างใจเย็น คือกุญแจแห่งความสำเร็จที่จะทำให้มวยรองสามารถพลิกกับมาชนะได้มากกว่าปกติไม่มากก็น้อย…
และนั่นคือเหตุผลว่าทำไมผู้เขียนจึงมอบท่านี้ให้กับ อิปโป… หาก “เด็มพ์ซี่ย์ โรล” คือสกิลสายบุกที่รวดเร็วแล้วล่ะก็ “กาเซล พันช์” ก็เป็นทีเด็ดยาม อิปโป ตั้งรับยามเจอคู่แข่งที่เหนือกว่าหรือบุกดุดันกว่า ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้พระเอกของเรื่องมีพัฒนาการจนเป็นนักชกที่ดุดันครบเครื่องนั่นเอง