ลุ้นระทึก 12 ยก! “ฟิวรี่” มีแผลแตกก่อนซิวชัยเอกฉันท์เหนือ “วอลลิน”

Boxing-84

การแข่งขันศึกมวยโลก รุ่นเฮฟวี่เวท ระหว่าง “ยิปซีคิง” ไทสัน ฟิวรี่ อดีตแชมป์โลก 4 สถาบัน ชาวสหราชอาณาจักร พบกับ ออตโต้ วอลลิน นักชกไร้พ่ายชาวสวีเดน ที่สังเวียน ที-โมบาย อารีน่า เมืองลาสเวกัส สหรัฐอเมริกา เมื่อเช้าวันอาทิตย์ที่ 15 กันยายน ที่ผ่านมา

เปิดฉากยกแรก ไทสัน ฟิวรี่ อาศัยช่วงชกที่ยาวกว่า ดักแย็ปซ้ายต่อเนื่องอยู่วงนอก ด้าน ออตโต้ วอลลิน กำปั้นชาวสวีเดน พยายามเดินติดเพื่อหวังคลุกวงในแต่ก็ยังไม่สามารถทำได้ถนัดนัก

ยกสอง นักชกไร้พ่ายชาวสวีเดน เดินเร็วขึ้นจนทำให้ ไทสัน ฟิวรี่ หลังติดเชือกก่อนปล่อยหมัดชุดเล่นงาน แต่ กำปั้นแดนผู้ดี ก็หนีออกมาได้ด้วยการปล่อยซ้ายหนักๆ เล่นงานทำเอาคู่ชกออกอาการต้องโผเข้ากอด

ยกสาม ออตโต้ วอลลิน เดินคลุกวงในออกหมัดตัดลำตัวหลายครั้ง ขณะที่ ฟิวรี่ อาศัยแย็ปซ้ายเล่นงาน แล้วพยายามดักปล่อยขวาหวังเข้าปลายคางแต่ยังพลาดเป้า ท้ายยก กำปั้นสวีดิชเปิดแผลที่คิวขวาของ ฟิวรี่ ได้

Boxing-85

ยกสี่ ไทสัน ฟิวรี่ เปลี่ยนแผนมาเดินบุกบ้าง พยายามออกหมัดหนึ่งสองเล่นงาน แต่ก็ยังทำอะไร ออตโต้ วอลลิน ที่ยกนี้มาเน้นรัดกุมรอจังหวะนานๆ ทีจะปล่อยหมัดสวน

ยกห้า กำปั้นสวีดิช เดินติดประชิดตัวออกหมัดตัดลำตัวเป็นชุด ด้าน ฟิวรี่ ดูจะพะวงกับแผลที่คิ้วขวาเน้นป้องกันตัว นานๆ จะปล่อยแย็ปซ้าย และหมัดอัปเปอร์คัตเล่นงานเป็นระยะ

ยกหก เกมการชกเป็นไปรูปแบบเดิม แต่ช่วงนาทีสุดท้าย กรรมการหยุดเกมเพื่อดูแผลแล้วตัดสินใจให้ชกต่อ จากนั้นกำปั้นทั้งคู่เปิดฉากแลกหมัดกันสนุกชนิดไม่มีใครยอมใคร

ยกเจ็ด “ยิปซีคิง” ไม่มีอะไรจะเสีย เดินลุยทันทีในช่วงต้นยก ก่อนปล่อยหมัดขวาตรงเข้าหน้าคู่ชกเต็มๆ แต่ วอลลิน ยังทนได้ ช่วงปลายยกเป็นของ กำปั้นชาวสวีเดน ที่เดินบดวงใน

ยกแปด – ยกเก้า  ไทสัน ฟิวรี่ เป็นฝ่ายทำได้ดีทีเดียวเดินออกหมัดตัดลำตัวเป็นชุด ก่อนดักปล่อยหมัดหนึ่งสองเข้าหน้าทำเอา ออตโต้ วอลลิน ถึงกับมีอาการอ่อนลงไปอย่างเห็นได้ชัด

ยกสิบ ยอดนักชกผู้ดีเร่งเครื่องทันที เดินติดปล่อยหมัดชุดเข้าใส่ทั้งใบหน้าสลับลำตัวทำเอา ออตโต้ วอลลิน ไม่ทันตั้งตัวต้องฉากหนีออกไปอาศัยโจมตีจากวงนอก

ยกสิบเอ็ด ต้นยก ออตโต้ วอลลิน ออกมาเดินสู้ไม่ถอยหนีเหมือนยกที่ผ่านมา แต่ ไทสัน ฟิวรี่ แก้เกมด้วยการเดินตัดลำตัวทำเอาเจ้าตัวต้องรีบถอยหนี

ยกสิบสอง ออตโต้ วอลลิน ปล่อยซ้ายเข้าหน้า ฟิวรี่ ทำเอาอดีตแชมป์โลกออกอาการต้องโผเข้ากอด ช่วงปลายยกกำปั้นทั้งคู่แลกอาวุธกันแบบไม่มีใครยอมใคร

ครบ 12 ยก กรรมการรวมคะแนนให้ ไทสัน ฟิวรี่ เป็นฝ่ายเอาชนะคะแนนไปแบบเอกฉันท์ 116-112, 117-111 และ 118-110 ยืดสถิติการชก ชนะ 29 ไฟต์ เป็นการชนะน็อกเอาท์ 20 ไฟต์ เสมอ 1 ไฟต์ และยังไม่เคยแพ้ใคร

กำเนิด “Gazelle Punch” : หมัดแห่งตำนานมวยโลกที่ “อิปโป” ใช้เป็นท่าไม้ตาย

Boxing-77

Hajime no Ippo หรือ ก้าวแรกสู่สังเวียน นั้นทุกคนรู้ดีว่า มาคุโนอุจิ อิปโป เด็กหนุ่มพระเอกของเรื่องมีท่าไม้ตายประจำตัวที่ชื่อว่า “เด็มพ์ซี่ย์ โรล” (Dempsey Roll) ที่ส่งเขาคว้าชัยในศึกแล้วศึกเล่า อย่างไรก็ตามมีอีก 1 ท่าไม้ตายที่เขามักจะใช้ประจำนั่นคือ “กาเซล พันช์” (Gazelle Punch) ซึ่งหมัดนี้มีที่มาในโลกแห่งมวยสากลอาชีพจริงๆ 

“กาเซล พันช์”  คือท่าไม้ตายที่กระแทกหน้าทีเดียวคนโดนชกปลิวเหมือนกับโดนสิบล้อชนได้ง่ายๆ… ทว่า กาเซล พันช์ ในโลกแห่งความจริงนั้นเป็นเช่นไร? และมีตำนานอะไรซ่อนอยู่ภายใต้หมัดสิบล้อชนนี้กันแน่?

ทำไมต้องชื่อ กาเซล พันช์?

หากให้แปลตรงตัวแบบกำปั้นทุบดิน กาเซล พันช์ นั้นแปลว่า “หมัดละมั่ง” ใช่แล้ว คำว่า “กาเซล” ไม่ได้มาจากชื่อคนเหมือนอย่างท่า เด็มพ์ซี่ย์ โรลล์ ที่ได้มาจาก แจ็ค เด็มพ์ซี่ย์ แต่อย่างใด ซึ่งเหตุผลที่ต้องเอาละมั่งมาเปรียบเทียบนั้น เกิดขึ้นจากการที่ท่านี้ต้องใช้พลังขาผนวกเข้ากับกำลังหมัดเป็นอย่างมาก

Boxing-78

ละมั่ง นั้นเป็นสัตวจำพวกกวาง จุดเด่นของมันคือพละกำลังกล้ามเนื้อขาที่ถึงแม้จะเล็กแต่ก็ทรงพลัง ละมั่งที่โตเต็มวัยสามารถดีดตัวได้สูงเกิน 2 เมตร เพื่อใช้เป็นท่าไม้ตายในการเอาตัวรอดยามเผชิญหน้ากับสัตว์นักล่านั่นเอง อย่างไรก็ตาม ก็มีหลายครั้งที่ท่านี้ถูกเรียกว่า “หมัดจิงโจ้” (Kangaroo Punch) เพราะท่าดังกล่าวก็สอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของจิงโจ้เช่นกัน

การใช้พละกำลังจากขาถูกผูกเข้ามาเป็นหนึ่งในท่าไม้ตายในวงการมวยในช่วงประมาณยุค ’50s คนแรกที่นำมาใช้คือ ร็อคกี้ มาร์เซียโน่ นักมวยไม่กี่คนบนโลกนี้ที่ไร้พ่ายตั้งแต่วันแรกที่เทิร์นโปรจนกระทั่งวันเกษียณ เขาคนนี้คือคนที่ มูฮัมหมัด อาลี นักชกเฮฟวี่เวตที่ถูกยกให้ว่าเก่งที่สุดตลอดกาลยังยอมรับว่า “ผมไม่รู้จะเอาชนะเขาได้หรือเปล่า?”

หากจะเท้าความว่าทำไม มาร์เซียโน่ จึงต้องคิดค้นท่า กาเซล พันช์ ขึ้นมาคงต้องย้อนกลับไปตั้งแต่สมัยยังเป็นวัยรุ่น เขาชื่นชอบการเล่นเบสบอลมาก แม้จะฝีมือดี แต่แขนของเขาไม่มีพลังมากพอเมื่อเทียบกับคนอื่นๆ จนท้ายที่สุดก็ต้องเลิกนั่นทำให้เขาหันมาเป็นนักมวยสากลสมัครเล่นหลังจากได้เข้าไปอยู่ในกองทัพอเมริกา

มาร์เซียโน่ เป็นนักมวยที่ตั้งรับไม่เป็นหรือเรียกง่ายๆ ว่าเป็นมวยไฟต์เตอร์จ๋า เดินหน้าฆ่ามันอย่างเดียวเท่านั้น เมื่อประกอบด้วยร่างกายที่เสียเปรียบด้วยความสูงแค่ 5 ฟุต 11 นิ้ว (179 เซนติเมตร) หนักแค่ 190 ปอนด์ (86 กิโลกรัม) พร้อมช่วงชกที่สั้นแค่ 68 นิ้ว (173 เซนติเมตร) ดังนั้นมันจึงจำเป็นมากที่เขาจะต้องมีหมัดเด็ดที่ใช้ปิดบัญชีคู่ชกได้จากการมุดเข้าวงใน และหลังจากที่เขาได้เทิร์นโปรในปี 1947 โลกก็ได้รู้จัก กาเซล พันช์ หรือ หมัดละมั่ง เป็นครั้งแรก

กาเซล พันช์ มีวิธีใช้ง่ายๆ เพียง 4 สเต็ปเท่านั้นได้แก่…

หนึ่ง ย่อเข่าลงเล็กน้อยเพื่อรอจังหวะหลบหมัดของคู่ต่อสู้

สอง ถ่ายเทน้ำหนักไปที่ขาทั้งสองข้าง

สาม บิดสะโพกเล็กน้อยเพื่อเสริมแรง ในขณะที่ง้างหมัดฮุกหรืออัพเปอร์คัต

และ สี่ ดีดตัวขึ้นมาพร้อมจู่โจมต่อเนื่อง สลับด้วยหมัดซ้ายที ขวาที พร้อมบิดสะโพกเสริมแรง เอาจนกว่าคู่ชกจะร่วง

Boxing-79

สำหรับ ร็อคกี้ มาร์เซียโน่ นั้น กาเซล พันช์ คือท่าไม้ตายก้นหีบของเขา ด้วยพลังกำปั้นที่หนักหน่วงบวกกับเทคนิคเสริมพลังจากการยันตัวของร่างกายส่วนล่างทำให้ 16 ไฟต์แรกของการชกอาชีพ เขาไล่ถลุงคู่ชกจนได้ชนะน็อคทุกครั้ง และมีถึง 9 จาก 16 ไฟต์ที่น็อคคู่ชกได้ตั้งแต่ระฆังปิดยกที่ 1 ยังไม่ดังเลยทีเดียว

หมัดที่หนักหน่วงทำให้เขาได้ฉายาว่า “The Brockton Blockbuster” หรือที่คนไทยเรียกกันว่า “ไอ้หมัดภูผาหิน” ซึ่งตามมาด้วยสถิติชกชนะรวด 49 ไฟต์ และมีถึง 43 ไฟต์ที่เป็นการชนะน็อคเอาต์คู่แข่งอีกด้วย 

แม้จะเลิกชกไปแต่ กาเซล พันช์ ก็กลายเป็นมรดกตกทอดในวงการมวยสืบไป หลังจากหมดยุคของเขาในปี 1955 

เพราะหลังจากนั้นไม่นาน ฟลอยด์ แพ็ทเทอร์สัน ก็นำท่า กาเซล พันช์ มาใช้งานต่อและประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก เพราะตัวของ แพ็ทเทอร์สัน นั้นเป็นคนที่เคลื่อนไหวได้เร็วมากตั้งแต่ขั้นตอนแรก (ขั้นตอนการย่อเข่าหลบหมัดของคู่แข่ง) ดังนั้นเมื่อเริ่มต้นดี การดีดตัวเพื่อชกของเขาก็ยิ่งแรงเข้าไปอีก ก่อนจะปิดท้ายด้วยการชกแบบซ้ายทีขวาทีแบบแทบนับหมัดไม่ทัน นั่นคือเหตุผลที่ว่าทำไมจึงกลายเป็นนักมวยอายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ที่คว้าแชมป์โลกรุ่นเฮฟวี่เวตได้ (ก่อน ไมค์ ไทสัน จะมาทำลายสถิติในภายหลัง)

Boxing-80

ความเร็วและความหนักในการใช้ กาเซล พันช์ ของ แพ็ทเทอร์สัน ถูกยกย่องว่าเขาเป็นผู้ใช้ท่าไม้ตายนี้ได้มีประสิทธิภาพที่สุดในประวัติศาสตร์อีกด้วย 

นักชกรุ่นหลังๆ เรียนรู้วิธีเพิ่มพลังหมัดจากการใช้แรงส่งจากขาและร่างกายท่อนล่างของ มาร์เซียโน และแพทเทอร์สัน ไปสร้างชื่อเสียงได้มากมาย โดยเฉพาะไฟต์ในตำนานระหว่าง โจ เฟรเซียร์ กับ มูฮัมหมัด อาลี ในปี 1971 ที่ โจ เฟรเซียร์ นั้นใช้ กาเซล พันช์ มุดเข้าวงในและฮุกด้วยซ้ายใส่ อาลี จนร่วงในยก 15 และเป็นฝ่ายชนะคะแนนไปในท้ายที่สุด แต่สิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่านั้นคือนั่นคือครั้งแรกที่นักชกที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์อย่าง อาลี ต้องพบกับความพ่ายแพ้ในอาชีพนักรบสังเวียนผ้าใบ 

แม้แต่อาลี ก็ยังร่วงได้ง่ายๆ ดังนั้นมันจึงเป็นเครื่องยืนยันได้อย่างดีว่า กาเซล พันช์ คือท่าไม้ตายที่ได้เรื่องได้ประสิทธิภาพอย่างแท้จริง และปัจจุบันยังมีนักชกหลายคนที่ใช้งานมันอยู่ หนึ่งในนั้นคือ วลาดิเมียร์ คลิทช์โก้ อดีตแชมป์โลกเฮฟวี่เวตชาวยูเครนนั่นเอง

กาเซล พันช์ มาถึง อิปโป ได้อย่างไร?

การได้ กาเซล พันช์ เป็นอาวุธทีเด็ดนั้นเกิดขึ้นจากการที่ อิปโป เป็นนักมวยตัวเล็กเสียเปรียบช่วงชก (จุดเริ่มต้นคล้ายๆ กับ ร็อคกี้ มาร์เซียโน่) จึงต้องหาท่าไม้ตายที่เล่นงานคู่ชกจากวงในและสุดท้ายก็มาค้นพบ กาเซล พันช์ นั่นเอง

Boxing-81

ว่ากันตามความจริงแล้ว อิปโป นั้นไม่ใช่คนหมัดหนักโดยพรสวรรค์แต่อย่างใด เพราะมันเกิดจากการฝึกกล้ามเนื้อมาอย่างดีต่างหาก อิปโป เคยทำงานแบกหามบนเรือประมง อีกทั้งเมื่อเข้าระบบอาชีพเขาก็ยังเน้นการฝึกกล้ามเนื้อแบบเข้มข้นมาโดยตลอดตั้งแต่ตอนแรกๆ แล้ว

การฝึกท่า กาเซล พันช์ นั้นมีจุดเริ่มต้นมาจากตอนที่ 46 ที่ อิปโป เริ่มฝึกกล้ามเนื้อขาและชกกระสอบทรายเป็นครั้งแรก จนกระทั่งได้เอามันมาใช้ครั้งแรกกับ อเล็กซานเดอร์ วรูค ซานคีเยฟ แน่นอนว่าด้วยพลังขาที่พร้อมตั้งแต่สมัยทำงานอยู่บนเรือ บวกกับการฝึกกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ เพิ่มขึ้นอีกจึงทำให้ อิปโป ซัด วรูก ด้วย กาเซล พันช์ จนกระเด็นด้วยความรุนแรงราวกับโดนสิบล้อชนก็ไม่ปาน

อย่างไรก็ตามในเรื่องก็ยัง “เนิร์ฟ” กาเซล พันช์ ของ อิปโป ลงไปพอสมควร เพราะด้วยความรุนแรงระดับสิบล้อชน ผู้เขียนจึงจำกัดขีดความสามารถของ กาเซล พันช์ ด้วยการใส่ข้อแม้ไปว่า “ไม่อาจต่อยท่านี้รัวๆ ได้” เพราะจะส่งผลกับร่างกายของตัว อิปโป เอง

โลกการ์ตูน vs โลกความจริง

ทุกวันนี้ กาเซล พันช์ ยังคงเป็นท่าที่ทรงประสิทธิภาพไม่เปลี่ยนแปลง โดยท่านี้เหมาะกับเวลาที่ต้องดวลกับคู่ชกที่มีช่วงชกยาวกว่าและมีการออกอาวุธระยะไกลที่ดีกว่า เพราะการถีบตัวไปข้างหน้าแบบละมั่งนั้นหากทำได้ตามขั้นตอนและมีประสิทธิภาพแล้วยากที่ใครจะตั้งตัวทัน ยกตัวอย่างเช่นการที่ เฟรเซียร์ คว่ำ อาลี ตามที่กล่าวไปข้างต้นจะเห็นภาพชัดเจนที่สุด

เพราะ อาลี ในเวลานั้นที่ขึ้นชื่อว่าเป็นนักมวยที่มีฟุตเวิร์คดีที่สุดและรวดเร็วที่สุดถึงขั้นขนาดชกแบบไม่ต้องตั้งการ์ดก็ยังไม่สามารถตั้งตัวหมัด กาเซล พันช์ ของ เฟรเซียร์ ได้เลย

Boxing-82

อย่างไรก็ตามทุกอย่างบนโลกนี้ไม่มีอะไรดี 100% และไม่ได้เรื่อง 100% กาเซล พันช์ เองก็เช่นกัน ในการ์ตูนนั้นอาจจะถูกอ้างอิงว่าร่างกายของผู้ใช้จะเสียหาย ทว่าในโลกแห่งความจริงนั้น กาเซล พันช์ ก็มีจุดอ่อนซ่อนอยู่ไม่ต่างกัน

Shortboxing เว็บไซต์เกี่ยวกับการวิเคราะห์พลังหมัดหรือการชกแบบต่างกล่าวว่า กาเซล พันช์ ไม่เหมาะอย่างยิ่งกับการเจอกับนักมวยสายตั้งรับ (เคาน์เตอร์ พันช์) หรือเรียกง่ายๆ ก็คือนักมวยที่ดักชกจังหวะสองเก่งๆ อาทิ ฟลอยด์ เมย์เวทเธอร์ จูเนียร์ ยอดฝีมือสายเคาน์เตอร์เหล่านี้จะมีโอกาสอ่านทางและปล่อยหมัดขวาตรง หรือซ้ายตรงใส่หน้าคนที่พยายามจะใช้ กาเซล พันช์ ได้ก่อนแน่นอน เพราะใช้ระยะในการออกหมัดที่สั้นและกินเวลาในการปล่อยหมัดน้อยกว่า 

ตัวอย่างที่ชัดมากๆ อันหนึ่งคือไฟต์ในศึก UFC 194 ระหว่าง คอเนอร์ แม็คเกรเกอร์ กับ โฮเซ่ อัลโด้ ในปี 2015 อัลโด้ พยายามจะใช้การชกลักษะเดียวกับ กาเซล พันช์ ใช้พลังขาดีดตัวเข้าชก ทว่า แม็คเกรเกอร์ ยืนระยะดีพอที่จะอ่านทางออกก่อนและสวนเปรี้ยงทีเดียวเข้าที่หน้าเต็มๆ จน อัลโด้ หลับกลางอากาศเลยทีเดียว

Boxing-83

จะเห็นได้ว่าเมื่อโลกและยุคสมัยของมวยเปลี่ยนไป กาเซล พันช์ นั้นโดนจับทางได้ในท้ายที่สุด ไม่มีใครที่เป็นมวยไฟต์เตอร์สายเดินหน้าฆ่ามันใช้ท่านี้คว่ำคู่ชกได้ง่ายๆ แบบที่ ร็อคกี้ มาร์เซียโน่ และ ฟลอยด์ แพ็ทเทอร์สัน เคยทำได้อีกแล้ว 

ทว่า กาเซล พันช์ ได้กลับคืนสู่สามัญเหมือนกับความหมายตรงตัวกับคำแปลแบบกำปั้นทุบดินที่ว่า หมัดละมั่ง อย่างแท้จริง เพราะมันจะกลายเป็นทีเด็ดของมวยฝ่ายตั้งรับโดยปริยาย เหมือนกับที่ ละมั่ง ใช้หนีสัตว์นักล่านั่นแหละ พลังขาที่แข็งแรง และการรอจังหวะใช้พลังอย่างใจเย็น คือกุญแจแห่งความสำเร็จที่จะทำให้มวยรองสามารถพลิกกับมาชนะได้มากกว่าปกติไม่มากก็น้อย… 

และนั่นคือเหตุผลว่าทำไมผู้เขียนจึงมอบท่านี้ให้กับ อิปโป… หาก “เด็มพ์ซี่ย์ โรล” คือสกิลสายบุกที่รวดเร็วแล้วล่ะก็ “กาเซล พันช์” ก็เป็นทีเด็ดยาม อิปโป ตั้งรับยามเจอคู่แข่งที่เหนือกว่าหรือบุกดุดันกว่า ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้พระเอกของเรื่องมีพัฒนาการจนเป็นนักชกที่ดุดันครบเครื่องนั่นเอง

“ราฟฟี สิงห์ป่าตอง” : ชีวิตนักมวยฝรั่งเศสแชมป์เวทีลุมพินีบนสังเวียนเลือดมวยไทย

Boxing-76

“ถ้าผมคิดเรื่องหาเงินเป็นอันดับแรก ผมคงไม่เลือกชกมวยไทย แต่ผมต่อย เพราะผมรักมวยไทย” 

การตอบคำถามด้วยภาษาไทยชัดถ้อยชัดคำของ ราฟาแอล โบอิค (Raphael Bohic) หรือ ราฟฟี สิงห์ป่าตอง นักมวยไทยอาชีพชาวฝรั่งเศส คงเป็นสิ่งที่ยืนยันได้เป็นอย่างดีว่า “เขารักมวยไทยมากแค่ไหน ?”

สำหรับคนหนุ่มที่เติบโตมาในประเทศที่พัฒนา และสามารถหารายได้หลักครึ่งแสนต่อเดือน แทบไม่มีความจำเป็นใดๆเลย ที่เขาต้องมาใช้ชีวิตแบบนักมวยไทย ในแผ่นดินที่ไม่ใช่บ้านเกิดของตัวเอง รวมถึงต้องปรับตัวกับทุกๆเรื่องตั้งแต่อาหารการกิน ภาษา ไปจนถึงวัฒนธรรมต่างกัน

แต่เพราะมนุษย์ทุกคนต่างความหลงใหลและวิถีทางที่อยากจะเป็นแตกต่างกัน…ราฟฟี ยินดีที่จะสละชีวิตอันสุขสบายในประเทศฝรั่งเศส ดินแดนที่คนไทยหลายคน อยากไปท่องเที่ยวหรือใช้ชีวิตอยู่ที่นั่น เพื่อมาต่อสู้บนสังเวียนเลือด แลกกับ  ชื่อเสียง เงินตรา และความสุขที่ได้เดินบนเส้นทางที่ใจต้องการ 

หากนับนิ้วมือตามจำนวนปีที่ ราฟฟี อยู่กินบนแผ่นดินไทย ก็คงต้องใช้นิ้วมือทั้งสองข้าง เพื่อบอกแทนว่า เขาใช้เวลานานกว่าแค่ไหน… 

กว่าชาวต่างชาติคนหนึ่งอย่างเขา จะผงาดขึ้นมาเป็น นักชกแม่เหล็กแถวหน้าของวงการมวยไทยยุคนี้ ที่มีเข็มขัดแชมป์ รุ่น 147 ปอนด์ เวทีมวยลุมพินี และแชมป์โลกมวยไทยสถาบัน WMC รุ่น 140 ปอนด์ เป็นเครื่องการันตีความสำเร็จ

ไอ้หนุ่มช่างไฟหัวใจมวยไทย 

แรนส์ (Rennes) เมืองเล็กๆที่ตั้งอยู่ฝั่งตะวันตกตอนเหนือ ห่างจากปารีส 310 กิโลเมตร ที่เต็มไปด้วยสถาปัตยกรรมที่สวยงาม วิถีชีวิตของผู้คนที่เรียบง่าย บ้านเมืองที่สะอาดสะอ้านตา จนถูกยกให้เป็น เมืองน่าอยู่ลำดับต้นๆ ของประเทศฝรั่งเศส  

ราฟฟี ใช้ชีวิตในวัยเด็กและเติบโตที่เมืองนี้ เมื่อย่างเข้าวัยรุ่น เขาเรียนหนังสือควบคู่กับการทำงานเป็น “ช่างไฟฟ้า” ตามอาชีพที่ครอบครัวทำกันมา (ทำงานสองสัปดาห์, เรียนสองสัปดาห์) จนถึงอายุ 18 ปี

“ผมชอบกีฬาต่อสู้มาตั้งแต่เด็ก ตอนอายุ 6 ขวบ เคยเรียนยูโด ก็ไม่ได้ติดใจอะไร จึงเลิกไป พออายุสักประมาณ 14 ปี ชอบหาเวลาว่างเปิดคลิปดูการชกมวยหลากหลายรูปแบบ แต่ที่ชอบมากสุด คือ มวยไทย เพราะสามารถศอกได้ ทำได้หลายอย่างไม่ผิดกติกา ส่วนการต่อสู้แบบอื่น อย่าง คิก บอกซิง ผมดูแล้วมันไม่สนุกเลย” 

“ผมชอบดูคลิปบัวขาว, แสนชัย หรือว่าคลิปการชกนักมวยไทยเก่าๆ เมื่อ 20-30 ปีที่แล้ว ยิ่งเปิดดูก็ยิ่งทำให้ผมสนใจมวยไทยมากขึ้น เพียงแต่ยังไม่มีโอกาสได้ไปฝึก จนมาทราบว่ามียิมสอนมวยไทยเปิดอยู่ไม่ไกลจากที่ทำงานห่างประมาณ 10 กิโลเมตร ทุกวันหลังเลิกงานตอนเย็น ผมจะขี่มอเตอร์ไซค์ไปเรียนมวยไทยที่นั่น ตั้งแต่ 2 ทุ่ม – 4 ทุ่ม แล้วค่อยกลับบ้าน”

“ผมไม่รู้ว่าเขาสอนถูกต้องหรือไม่ รู้แต่ว่าผมอยากฝึกมวยไทย และอยากหาเวทีชกเยอะๆ” ราฟฟี บอกกับเราถึงเหตุผลที่เริ่มหลงรักมวยไทย

ราฟฟี ได้เริ่มต้นเรียนมวยไทย ตอนอายุ 17 ปี  ซึ่งหากเทียบกับเด็กไทยก็นับว่าเริ่มต้นช้ามาก แต่เขาคิดว่าไม่ใช่ปัญหาสำหรับเขา เพราะเขารู้สึกสนุกและเต็มใจจะเหนื่อยเพิ่มเติมในทุกๆวันหลังเลิกงาน จนมวยไทยกลายเป็นความหลงใหลที่ ราฟฟี ถอนตัวไม่ขึ้น

หนุ่ยน้อยจากเมืองแรนส์ พยายามตระเวนหารายการชกมวยไทยในประเทศฝรั่งเศส แต่น่าเสียดายที่ไฟต์มีจัดไม่บ่อยนักและเว้นช่วงนานเกินไป ทำให้ ราฟฟี่ เริ่มอยากออกเดินทาง ไปสัมผัสประสบการณ์ชกจริง ถูกฝึกสอนจริง โดยชนชาติต้นตำรับกีฬาชนิดนี้ 

“ที่ฝรั่งเศส ปีๆหนึ่ง จะมีรายการชกแค่ 4-5 ไฟต์เท่านั้น แต่ผมเคยได้ยินมาว่าที่เมืองไทย มีรายการต่อยทุกเดือน ผมจึงอยากหาโอกาสมาชกที่ไทย ผมอยากขึ้นเวทีต่อยเยอะๆ ตอนนั้นผมทำงานได้เงิน เดือนละประมาณ 50,000 บาท ก็ค่อยๆเก็บสะสม จนมีเงินก้อนหนึ่งเป็นทุนส่วนตัว สำหรับบินมาเรียนมวยไทย”

“คนอื่นเขาอาจจะมาเมืองไทยเพราะอยากพักผ่อน ท่องเที่ยว แต่เหตุผลเดียวที่ผมมาไทย เพราะมวยไทยเท่านั้น”

สัมภาระเสื้อผ้าจำนวนหนึ่งถูกบรรจุลงในกระเป๋าเดินทาง พร้อมกับเงินเก็บจำนวนหนึ่งที่ได้มาจากการทำงานประจำอย่างขันแข็ง คือ สองสิ่งหลักๆที่ราฟฟี่ โบอิค ได้นำขึ้นเครื่องบินออกเดินทางไปยังอีกซีกโลก ในดินแดนที่ห่างไกลออกไปจากถิ่นฐานของเขากว่า 12,000 กิโลเมตร 

แผ่นดินที่ในวันนี้เขาให้คำแทนประเทศนั้นว่า “บ้านหลังที่สอง” 

ฝรั่งบนสังเวียนมวยไทย

เสียงปี่พาทย์อันเร่งเร้า เคล้ากับเสียงกลองชวา จากวงดนตรีปี่กลอง ที่บรรเลงอยู่ข้างๆสนามมวย ท่ามกลางบรรยากาศเสียงอื้ออึงที่ไม่เคยหยุด ของเซียนมวยและคนดูในเวทีมวยมาตรฐาน “ลุมพินี”

เป็นประสบการณ์การชกครั้งหนึ่ง ที่น่าตื่นเต้นของ ราฟฟี โบอิค นักมวยโนเนมชาวฝรั่งเศสวัย 18 ปี ที่ได้มีโอกาสเดินทางจากจังหวัดภูเก็ต ขึ้นมาชกบนสังเวียนอันทรงเกียรตินี้

“ครั้งแรกที่มาเมืองไทย ผมไปซ้อมอยู่ที่ แฟร์เท็กซ์ ก็ฝึกซ้อมไปได้ระยะหนึ่ง จนหมดเงินเก็บ ก็บินกลับไปทำงานเก็บเงินและมาเมืองไทยเป็นครั้งที่สอง โดยเข้ามาฝึกซ้อมกับค่ายมวย สิงห์ป่าตอง ที่ จ.ภูเก็ต”

“สาเหตุที่เปลี่ยนมาซ้อมที่นี่ เพราะมีเพื่อนแนะนำให้มา เขาบอกว่า ค่ายนี้สอนดี ดูแลดี ฝรั่ง คนไทย เท่าเทียมกัน แถมมีรายการให้ชกด้วย”

“ความตั้งใจแรกผมคิดว่าจะอยู่สัก 4 เดือน เงินหมดค่อยกลับฝรั่งเศสไปทำงานต่อ แต่ระหว่างที่ฝึกซ้อมอยู่ สิงห์ป่าตอง ผมได้ขึ้นชกประมาณ 9 ไฟต์ เจอพวกสมัครเล่นเหมือนกันชนะน็อกได้หมดเลย ค่ายจึงพาผมไปลองชกลุมพินี 1 ครั้ง” 

“พอใกล้ถึงกำหนด ผู้ใหญ่ทางค่ายก็สนใจ อยากให้ผมชกมวยไทยต่อ ผมจึงบินกลับฝรั่งเศส ไปทำเรื่องเอกสารประมาณ 2 สัปดาห์ และตัดสินใจมาใช้ชีวิตอยู่เป็นนักมวยที่ไทยจนถึงทุกวันนี้”

การได้รับการถ่ายทอดวิชามวยไทย จากครูฝึกชาวไทย บวกกับได้ลองชกในสนามจริงที่ทางค่ายมีโปรแกรมจัดชกที่ จ.ภูเก็ต ทุกวันเสาร์ ทำให้ ราฟฟี่ โบอิค ยิ่งหลงรักมวยเข้าอย่างสุดหัวใจ

ก่อนที่เขาจะตัดสินใจ เลือกเอาดีทางการชกมวยไทย ตามคำชวนของ หนุ่มน้อย เมืองหาดใหญ่ (สมนึก พัดบุรี) โปรโมเตอร์และผู้ดูแลคณะสิงห์ป่าตอง ที่ชอบใจในความขยันของนักชกฝรั่งคนนี้ โดยในตอนนั้นเขามี ดาเมียน อลามอส เพื่อนร่วมชาติที่เคยเป็นแชมป์เวทีมวยลุมพินี เป็นแรงบันดาลใจที่เขาอยากเดินตามรอย

แม้พื้นฐานเขาไม่ได้มีทักษะด้านมวยไทยที่ดีนัก เมื่อเทียบกับนักมวยชาวไทย โดยเฉพาะด้านเทคนิค ทั้งเรื่องเชิงมวย เหลี่ยมมวย หรือการออกอาวุธให้รุนแรงได้น้ำหนัก แต่การที่เขาถูกฝึกซ้อมซ้ำไปซ้ำมาเป็นเวลานานในทุกๆวัน เริ่มทำให้เขามีพัฒนาการที่ดีขึ้น อย่างค่อยเป็นค่อยไป

“ซ้อมมวยไทยที่ไทย มันทั้งหนัก ทั้งเหนื่อยมาก และยากมากๆเลย ต้องใช้เวลาซ้อมวันละหลายชั่วโมง แบ่งเป็นช่วงเช้ากับช่วงเย็น บางครั้งเหนื่อยจนร่างกายแทบจะไม่ไหวแล้ว แต่ใจก็บอกว่า เอาอีก เอาอีก เพราะเรายังต้องเรียนรู้หลายอย่างมากในกีฬามวยไทย”

“อยู่ที่ฝรั่งเศส ผมได้เรื่องหมัดกับเตะ แต่มาอยู่ไทย ผมได้ฝึกเรื่องศอกกับเข่า รวมถึงการกอดปล้ำด้วย ซึ่งยากมากๆ ต้องเรียนทุกวัน วันละหลายชั่วโมง กว่าจะไล่แขนเป็น ผมเริ่มจากฝึกปล้ำกับคนตัวเล็กกว่า จำได้ว่าตอนแรกๆ ผมปล้ำสู้เขาไม่ได้เลย ทั้งที่ตัวเองใหญ่กว่า พอเริ่มปล้ำเป็น ก็ค่อยๆขยับมาเจอคนที่หุ่นสูสีกัน ตอนนี้ผมปล้ำคนที่ตัวใหญ่กว่าได้แล้ว”

กว่าที่ ราฟฟี่ จะได้ขึ้นไปชกแต่ละไฟต์ เขาต้องผ่านการฝึกซ้อมที่ยาวนานและยากลำบาก แต่เพราะความกระตือรือร้นที่อยากเก่งมวยไทย ทำให้ ราฟฟี่ พยายามหัดฟัง และพูดภาษาไทย จนสามารถสื่อสารกับเทรนเนอร์ได้ง่าย

บวกกับทัศนคติของ ราฟฟี่ ที่เป็นคนที่เปิดรับการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา ทำให้ชั้นเชิงการชกของเขา ค่อยๆดีขึ้นเรื่อยๆ ยามอยู่บนสังเวียน ไม่ว่าจะประจันหน้ากับ คู่ชกชาวต่างชาติ หรือนักมวยไทย

กลายเป็นว่า พอ ราฟฟี่ ชกไปนานเท่าไหร่ เขาก็ยิ่งมีลักษณะท่าทางการออกอาวุธ ป้องตัว เหมือนกับนักมวยชาวไทยมากขึ้นตามไปด้วย

“ตอนแรกที่ราฟฟี่อยู่กับเรา เขาไม่ได้ชกแบบนี้เลย สไตล์เขาจะเดินแข็งทื่อ เพราะเขาไม่มีประสบการณ์มาก่อน แต่สิ่งที่ทำให้เขามีสไตล์การชกไม่เหมือนฝรั่งชกมวย ดูเหมือนคนไทยมากกว่า เพราะเขาเป็นคนที่เชื่อครูฝึกมาก ไม่ว่าจะสอนอะไร เขาจะรับฟัง และทำตามหมด โดยไม่มีข้อสงสัย”

“ฝรั่งบางคน ที่เคยเรียนมวยไทยในประเทศเขามาก่อน บางทีพอมาเจอการสอนโดยคนไทย เขาก็อาจจะไม่ยอมรับในบางวิธีการสอน หรือเทคนิคที่ครูฝึกถ่ายทอด เพราะคิดว่าตัวเองเก่งแล้ว ก็เลยทำให้เขามีสไตล์การชกที่ไม่เหมือนคนไทย” 

“แต่ราฟฟี่เขาไม่ได้คิดแบนนั้น เขาเป็นคนที่น้ำไม่เต็มแก้ว มีความอดทนสูง มีระเบียนวินัย ขยัน ก็เลยทำให้เขาสามารถชกได้คล้ายๆกับนักมวยไทย แม้เขาจะเริ่มต้นชกตอนอายุ 18 ปีแล้ว” ปาริฉัตร พัดบุรี ผู้จัดการค่ายมวย สิงห์ป่าตอง-ศิษย์หนุ่มน้อย เล่าเรื่องราวของ ราฟฟี่ ในขณะที่เจ้าตัวกำลังฝึกซ้อมในช่วงเย็น

100 เข็มและเข็มขัดแชมป์ลุมพินี 

เพราะไม่มีเทคนิคและกระดูกมวยติดตัวมาตั้งแต่เด็ก เหมือนนักมวยไทยอาชีพทั่วไป ราฟฟี่ สิงห์ป่าตอง จึงต้องชดเชยความบกพร่องนั้น ด้วยการทุ่มเทและฝึกซ้อมให้หนัก และพยายามให้มากกว่า นักมวยอาชีพ ที่เหนือกว่าเขา 

รอยแผลเป็นบนใบหน้าของ ราฟฟี่ สิงห์ป่าตอง มากกว่า 100 เข็ม คือ หลักฐานพยานที่เด่นชัดว่า เขาผ่านอะไรมาบ้างบนสังเวียนผ้าผืนใบ 

“ผมชอบมวยไทย เพราะออกอาวุธไม่ต้องเยอะ แต่เต็มที่ หนักทุกลูก เป็นกีฬาที่อันตรายมาก อย่างผมเย็บมา 100 กว่าเข็มแล้ว เหนือคิ้ว ใต้ตา หางคิ้ว ตรงข้อศอก เคยเย็บมากสุดครั้งเดียว 17 เข็ม ความรู้สึกตอนที่มีแผลแตก มันรู้สึกร้อนๆ แต่ไม่ได้เจ็บ ที่เจ็บสุดคือตอนเย็บแผล เจ็บมากกว่าตอนชกเสียอีก แล้วต้องรีบเย็บด้วย เพราะมันยังร้อนอยู่ ถ้าช้าจะเจ็บมากกว่านี้”

“บางครั้งโดนเตะซี่โครง นอนพลิกตัวไม่ได้เลย อาชีพนักมวยไทยไม่ง่ายเลย เอาจริงๆ ผมไม่ค่อยคิดหรอกว่าตัวเองจะเป็นแชมป์ ผมแค่อยากมีรายการชกบ่อยๆ อยากชกให้คนดูประทับใจ ผมดีใจที่เวลาไปสนามมวย มีแฟนมวยคนไทยมาขอถ่ายรูป เข้ามาทักทาย รู้สึกมีความสุขมาก” ราฟฟี่ กล่าว

“ไม่เจ็บ ไม่เรียนรู้” ราฟฟี่ เข้าใจความหมายของคำนี้เป็นอย่างดี เพราะในความเป็นจริง เขาแทบไม่มีความจำเป็นใดๆที่ต้องใช้กำปั้นแลกความเจ็บปวด เพื่อเงินทองเหมือนกับนักมวยชาวไทย ที่จำนวนไม่น้อย มาจากครอบครัวที่ยากจน 

เขาสามารถกลับไปใช้ชีวิตเป็นคนชนชั้นกลาง ทำงานหาเงินไม่ต้องเจ็บตัว อยู่ในประเทศฝรั่งเศส ไม่ต้องห่างไกลกับครอบครัว แต่ถึงกระนั้น ราฟฟี่ ไม่ได้คิดเช่นนั้น เขายินดีที่จะเสี่ยงรับความเจ็บปวดบนสังเวียนผืนผ้าใบมวยไทย ด้วยเหตุผลที่มากกว่าแค่เรื่องเงินทอง

“พ่อแม่ท่านก็เป็นห่วงนะครับ ตอนที่ผมเลือกเป็นนักมวยไทย แต่ชกเพราะผมรักมวยไทย ไม่ได้คิดว่าตัวเองจะต้องเป็นแชมป์ อยากมีรายการชกบ่อยๆ อยากชกให้เต็มที่ให้คนดูสนุก ถึงอาชีพนักมวยค่าตัวจะน้อย แต่ผมไม่ได้ชกมวยไทยเพราะเงิน ถ้าผมคิดเรื่องหาเงินเป็นอันดับแรก ผมคงไม่เลือกชกมวยไทย ผมก็คงไปหางานอย่างอื่นทำ” 

จากนักชกฝรั่งไร้ทรงมวย ความขยัน ตั้งใจ และไม่หยุดที่จะพัฒนาตัวเอง ทำให้ ราฟฟี่ ยกระดับตัวเองมาสู่มวยค่าตัวเงินแสนอีกคนของประเทศไทย จากจุดเริ่มต้นค่าตัว 4,000 บาทต่อไฟต์ 

แต่เขาคงไม่มีทางได้เป็นแชมป์มวยไทย เวทีลุมพินี หรือมีโอกาสได้ชกกับนักมวยไทยฝีมือดีหลายราย อาทิ ชูเจริญ ดาบรันสารคาม, ฉมวกทอง ไฟต์เตอร์มวยไทย, ยอดพนมรุ้ง จิตรเมืองนนท์, มนัสชัย หยกขาวแสนชัยยิม, ก้องศักดิ์-พงษ์สิริ พี.เค.แสนชัยมวยไทยยิม, นนทกิจ ต.หมอศรี รวมถึง แสนชัย หากเขาไม่มีวินัยและความพยายามที่มากพอ

โดยเฉพาะเรื่องการลดน้ำหนักที่ถือเป็นฝันร้ายสำหรับนักมวยไทยทุกคน ยามต้องเข้าโปรแกรมคุมน้ำหนัก เพื่อไม่ให้เกินน้ำหนักที่ตกลง และด้วยรูปร่างโครงสร้างร่างกายที่ใหญ่กว่าคนไทย ทำให้ ราฟฟี มักเป็นฝ่ายบีบน้ำหนักลงมาอยู่ที่ประมาณ 142 ปอนด์ โดยบางครั้ง เขาจะให้นักมวยไทยที่เก่งกว่า ต่อน้ำหนักให้เขา 2 ปอนด์  เพราะเจ้าตัวไม่สามารถทำน้ำหนักให้ลงไปมากกว่านั้นได้

“ผมเข้าใจนะครับว่า นักมวยไทยส่วนมากน้ำหนักจะไม่ค่อยเกิน 140 ปอนด์ (63.5) แต่ผมบีบน้ำหนักได้มากสุดแค่ 142 ปอนด์ (64 กิโลกรัม) เพราะน้ำหนักตัวผมปกติมันเยอะมาก (69 กิโลกรัม หรือ 152 ปอนด์)” 

“เท่ากับว่าถ้าผมชก 142 ปอนด์ ผมต้องลดน้ำหนักลงมาประมาณ 5 กิโลกรัมต่อไฟต์ ซึ่งผมต้องคุมอาหารก่อนชกเป็นสัปดาห์ และออกไปวิ่งเยอะๆ ช่วง 2-3 วันก่อนชก ถึงขนาดนั้น น้ำหนักก็ยังเกินมา 1 ปอนด์ตลอดตอนชั่ง จนผมชินแล้ว”

“แต่ผมไม่ค่อยคิดมากว่า มันเหนื่อย ก็ต้องสู้ อย่าไปอารมณ์เสีย พยายามคิดให้เป็นบวก ชกให้เต็มที่ก็พอ แล้วค่อยคิดเรื่องแพ้ ชนะ หรือแชมป์”

ราฟฟี ในวัย 28 ปี ลงหลักปักฐานและพบรักกับหญิงสาวชาวไทย โดยมีธุรกิจเล็กๆ ด้วยการปล่อยเช่ามอเตอร์ไซค์ ใน จ.ภูเก็ต เป็นรายได้เสริม นอกเหนือจากรายการชกที่เขามีต่อยอย่างสม่ำเสมอในไทย รวมถึงรายการในต่างประเทศ ที่ได้บรรลุข้อตกลงเซ็นสัญญากับ ONE Championship

แม้ในวันนี้ ราฟฟี่ จะมีรายได้จากการชกมวยไทยต่อเดือน เป็นเงินจำนวนที่มากกว่าตอนทำงานเป็นช่างไฟฟ้าในบ้านเกิด 

แต่อย่างที่เขาบอกกับเรา เงินไม่ใช่ประเด็นหลักที่เขาเลือกอาชีพนักมวยไทย เขาเลือกมวยไทย เพราะนี่คืองานที่เขารักและมีความสุขที่จะทำ เขายินดีที่จะเหนื่อย ยินดีจะพบกับความเจ็บปวด และพร้อมที่จะทุ่มเทให้มันอย่างสุดหัวใจ 

และสิ่งที่ตอบแทนกลับมาวันนี้ คือ ราคาแห่งความพยายามที่เขาแลกมันมาด้วย เลือด, หงาดเหงื่อ และความตั้งใจของชาวต่างชาติคนหนึ่ง บนสังเวียนผืนผ้าใบมวยไทย

“ผมมีความสุขกับทุกไฟต์ที่ได้ชก ผมไม่ได้รู้สึกมีปัญหาในการปรับตัว เรื่องการใช้ชีวิตที่ไทย แม้ว่า ไทย กับ ฝรั่งเศส จะมีความแตกต่างกันมาก ทั้ง สภาพอากาศ, อาหารการกิน หรือภาษา แต่เราก็ยังเห็นว่าคนไทยยิ้มให้กันตลอด ส่วนบ้านผมในช่วงหน้าหนาว เราคงไม่ได้เห็นรอยยิ้มจากพวกเขาแน่ๆ”

“มันก็มีบางครั้งตอนอยู่ไทย ที่ผมคิดถึงบ้าน เพราะผมได้กลับบ้านฝรั่งเศสแค่ปีละครั้งเอง แต่พอผมกลับฝรั่งเศสจริงๆ อยู่ที่นั่นได้แค่ 2-3 อาทิตย์ ก็อยากกลับไทยแล้ว ผมรู้สึกเหมือนที่นี่ เป็นบ้านอีกหลังของผมจริงๆ” ราฟฟี ทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้มหลังจบประโยคนี้

“จิมูเอล ปาเกียว” : ลูกไม้ที่อยากอยู่ใต้ต้นของคุณพ่อ

Boxing-69

“ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น” คือสุภาษิตที่หมายความว่า ลูกย่อมไม่แตกต่างไปจากพ่อแม่ แม้ว่าเส้นทางที่คนสองวัยเลือกเดินในตอนแรก จะแตกต่างกันสักแค่ไหน สุดท้ายต้องมาบรรจบที่ถนนเดียวกันทุกครั้งไป

สำหรับ แมนนี่ ปาเกียว ตำนานมวยแชมป์โลกชาวฟิลิปปินส์ ความต้องการเดียวที่ตัวเขามีต่อลูกชายสุดที่รัก จิมูเอล ปาเกียว คือ “ต้องไม่เป็นนักมวย” บาดแผลและความยากลำบาก บนเวทีพื้นผ้าใบ คือสิ่งที่แมนนี่ไม่ต้องการให้ทายาทคนใดของเขาได้สัมผัส

หากแต่จิตวิญญาณนักสู้ที่ส่งผ่านทางสายเลือด ชักพาให้ จิมูเอล เดินตามรอยเท้าพ่อ แม้ไม่ได้รับการสนับสนุนจากครอบครัวอย่างที่ตั้งใจ ผลงานของจิมูเอลดีแค่ไหน? แล้ว แมนนี่ ปาเกียว ตอบรับความฝันของลูกชายอย่างไร? 

ติดตามเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับครอบครัวปาเกียวไปพร้อมกัน…

เดินตามรอยพ่อ

เอ็มมานูเอล ปาเกียว จูเนียร์ หรือที่รู้จักกันในชื่อ จิมูเอล ปาเกียว เกิดเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ปี 2001 เขาคือลูกคนโตจากทั้ง 5 คนของ แมนนี่ ปาเกียว นักมวยดีกรีแชมป์โลกชาวฟิลิปปินส์

Boxing-70

ด้วยชื่อเสียงของพ่อ จิมูเอล ได้รับความสนใจจากสื่อตั้งแต่เด็ก เขาเริ่มต้นเส้นทางของตัวเองในวงการบันเทิง จากการประกอบอาชีพนายแบบ และได้คบหากับดาราสาวชาวฟิลิปปินส์ที่ชื่อว่า เฮเว่น ปาราเลโฮ

เส้นทางชีวิตของจิมูเอลในช่วงวัยรุ่น ที่ดูเหมือนจะสวนทางกับผู้เป็นพ่อ เป็นไปตามความต้องการของ แมนนี่ ปาเกียว เขาและภรรยา จินนี่ ปาเกียว ไม่ต้องการให้ลูกชายขึ้นไปเจ็บตัวบนเวทีมวยเลยแม้แต่น้อย 

เจ้าของฉายา “แพคแมน” เคยออกสัมภาษณ์กับสื่ออย่างชัดเจนด้วยซ้ำว่า ต้องการให้ลูกชายเรียนกฎหมาย แทนที่จะมาสวมนวมต่อยมวยแบบเขา

หากแต่ วงการบันเทิง และ วิชากฎหมาย ไม่ใช่ความสนใจที่แท้จริงของจิมูเอล เมื่ออายุได้ 18 ปี เขาประกาศอย่างชัดเจนว่าต้องการหันหน้าเข้าสู่วงการมวยสากล แม้จะเป็นเส้นทางที่แตกต่างจากบิดาของตัวเองก็ตาม

“จริงๆ แล้ว ผมต้องการไล่ตามความฝันในกีฬามวยสากล ผมต้องการเป็นนักชกสมัครเล่น แล้ววันหนึ่งผมจะเป็นตัวแทนของชาติในโอลิมปิก ผมต้องการสร้างชื่อเสียงให้แก่ตัวเอง” จิมูเอลสัมภาษณ์ถึงความสนใจในกีฬามวยสากลกับ The Manila Times

“ผมชอบการชกมวย ผมรู้ดีว่ามันยาก และผมก็รู้ตัวเองเหมือนกันว่า ผมไม่จำเป็นต้องทำมัน แต่ตามที่ผมได้กล่าวไปแล้ว ว่าผมต้องการสร้างชื่อเสียงให้กับตัวเอง ถึงจะไม่ใช่ในฐานะนักมวยอาชีพก็ตาม”

เนื่องจากต้องการขึ้นชกในระดับสมัครเล่น ที่มีหลายสิ่งแตกต่างไปจากมวยอาชีพแบบ แมนนี่ ปาเกียว จิมูเอลจึงฝึกซ้อมและหาลู่ทางแสดงฝีมือด้วยตัวเอง เขาได้โอกาสขึ้นชกไฟต์แรกในชีวิต เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ในการแข่งขันมวยโชว์ 2 ยก เจอกับ ลูคัส คาร์สัน นักมวยสมัครเล่น ที่เป็นเพื่อนร่วมโรงเรียนเดียวกันกับจิมูเอล

Boxing-71

ไฟต์แรกของจิมูเอล ได้รับความสนใจจากแฟนมวยทั่วโลก มีคนดูคลิปผลงานการชกของเขาในเฟซบุ๊กไปแล้วกว่า 2 ล้านครั้ง เขาเองทำผลงานได้น่าประทับใจ จิมูเอลแสดงให้เห็นถึงสไตล์การชกที่ดุดัน และเรียกเสียงเชียร์ดังลั่นจากผู้ชม หลังใช้หมัดซ้ายผสานกับฮุคขวา เล่นงานคู่แข่งจนร่วงไปกองกับพื้น

น่าเสียดายที่หมัดของจิมูเอลยังไม่มีน้ำหนักมากพอ คู่แข่งของเขาลุกขึ้นมาได้ก่อนกรรมการนับสิบ และเมื่อเขาสู่ยกที่สอง จิมูเอลแสดงให้เห็นถึงอาการอ่อนแรง ผลจบลงด้วยการเสมอ และจิมูเอลยังต้องรอชัยชนะนัดแรกของตัวเองต่อไป

คำคัดค้านจากครอบครัว

“หลังจบแมตช์โชว์แรก ผมตระหนักได้ทันทีเลยว่า มันถึงเวลาที่ผมต้องโฟกัสไปยังการฝึกซ้อมอย่างจริงจังแล้ว” จิมูเอลกล่าวถึงบทเรียนที่ได้รับจากไฟต์แรก

Boxing-72

จิมูเอลแสดงให้เห็นถึงความจริงจังในเส้นทางหมัดมวย ด้วยการเดินทางสู่นครลอส แอนเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อฝึกฝนกับ เฟรดดี โรช โค้ชคู่บุญของแมนนี่ ปาเกียว ก่อนการชกไฟต์ต่อไปที่จะมาถึงในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

“มันทำให้ผมเจ็บปวดเหมือนกันที่เห็นเขาต่อยมวย เพราะผมรู้ว่ามันยากแค่ไหน” แมนนี่ ปาเกียว กล่าวถึงความคิดเริ่มแรกต่อการตัดสินใจของลูกชาย

หลัง แมนนี่ ปาเกียว รู้ว่า ลูกชายคนโตของตัวเอง ต้องการเดินบนเส้นทางแบบเดียวกันกับที่ตัวเองเคยเดินมาก่อน เขาและภรรยาคัดค้านหัวชนฝา ทั้งคู่พยายามเกลี่ยกล่อมลูกชายหลายครั้ง ให้เปลี่ยนใจและเลือกเส้นทางชีวิตในรูปแบบอื่น

“เราบอกเขาไปแล้วว่าการชกมวยมันยาก และเป็นงานที่หนัก คุณจำเป็นต้องทำงานหนัก ฝึกซ้อมอย่างเต็มที่ และมีระเบียบวินัย เราพยายามทำให้เขาหมดกำลังใจในการชกมวยด้วยซ้ำ”

“ผมเข้าสู่วงการมวยเพราะว่าผมจน เราไม่มีอะไรเลยตอนนั้น ผมจึงมีภาระให้ชกมวย แต่สำหรับเขา มันเป็นเรื่องที่แตกต่างออกไป ผมสงสัยว่า เขาจะหาแรงจูงใจมาชกมวยได้อย่างไร ในเมื่อชีวิตเขาตอนนี้โอเคแล้ว มันเป็นคำถามใหญ่สำหรับผม และมันคือเหตุผลที่เราต้องสำรวจเขาอย่างใกล้ชิด”

“ผมบอกเขาไปว่า แกน่าจะไปโรงเรียน หรือบริหารธุรกิจที่เรามี จิมูเอลตอบผมกลับมาว่า จะให้เขาไปทำอะไร ในเมื่อการชกมวยเป็นแพชชั่นของเขาเหมือนกัน เขาต้องการจะเป็นตัวแทนของชาติในฐานะนักกีฬาคนหนึ่ง”

“แม่ของเขาร้องไห้หลายครั้ง บอกกับเขาตลอดว่า อย่าไปชกมวยเลยลูก แต่เขายืนกรานว่าเขาต้องการจะทำมัน นั่นเป็นสิ่งที่เขาต้องการ สุดท้ายเราเลยบอกว่า โอเค เราจะสนับสนุน แต่เราจะจับตาดูอย่างใกล้ชิด”

Boxing-73

แมนนี่ ปาเกียว ทำตามคำพูดที่ตัวเองได้กล่าวไว้ เขาลงทุนเดินทางไปติวเข้มจิมูเอลด้วยตัวเอง เขาเฝ้ามองการออกหมัดของลูกชายอย่างตั้งใจ และพูดคุยถึงสิ่งที่ต้องแก้ไข เพื่อทำให้จิมูเอลเติบโตเป็นนักมวยที่ฝีมือดีไม่แพ้กัน

การฝึกซ้อมอย่างหนัก จากความตั้งใจของตัวเอง และการฝึกสอนของพ่อ กลับมาตอบแทนจิมูเอลอย่างคุ้มค่า เขาเอาชนะการชกไฟต์ที่สองเหนือ มิกูเอล อีแกน เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา 

หลังการแข่งขันผ่านไปเพียงสองยก ด้วยหมัดซ้ายและฮุคขวา คอมโบเดิมที่เขาเคยใช้ในไฟต์แรก ที่คราวนี้ จิมูเอลฝึกฝนมาดีพอ จนสามารถน็อคคู่แข่งของเขาลงนับสิบได้ในที่สุด

“จิมูเอลส่งข้อความถึงพ่อและแม่ของเขา : ผมชนะ !!!” ข้อความในอินสตาแกรมของ ไดแอน กาสติเยโฆ่ สมาชิกทีมปาเกียว ที่บันทึกหมัดน็อกแรกของจิมูเอลเอาไว้

ไม่ขอทาบรอยเท้า

จิมูเอลขึ้นชกไฟต์ที่สามของตัวเองในเดือนมิถุนายน พบกับ ดาเรล มาร์เกวซ ในการชกแบบ 3 ยก แม้จะพลาดโอกาสน็อคคู่ต่อสู้แบบไฟต์ก่อนหน้า แต่จิมูเอลยังคว้าชัยชนะได้ด้วยคะแนน 30-24 และรักษาสถิติไร้พ่ายของตัวเองต่อไป

Boxing-74

ขณะที่จิมูเอลกำลังไปได้สวยในจุดเริ่มต้นอาชีพ แมนนี่ ปาเกียว กลับขึ้นสู่จุดสูงสุดอีกครั้งในช่วงบั้นปลายอาชีพ เมื่อเสือเฒ่าวัย 40 ปี เอาชนะ คีธ เธอร์แมน คว้าซูเปอร์แชมป์โลก WBA รุ่นเวลเตอร์เวตมาครองได้สำเร็จ

กว่า แมนนี่ ปาเกียว จะทำสถิติแชมป์โลกรุ่นเวลเตอร์เวต อายุมากที่สุดในประวัติศาสตร์ ทุกการฝึกซ้อมของเขาอยู่ในสายตาของจิมูเอล นอกจากจะได้เรียนรู้บทเรียนหลายอย่างจากพ่อ จิมูเอลยังเปิดอกอย่างตรงไปตรงมา ว่าเขาคิดเห็นอย่างไร ถึงเส้นทางอาชีพของ แมนนี่ ปาเกียว ในตอนนี้

“สำหรับผม จริงๆ พ่อควรจะหยุดชกมวยได้แล้ว ผมหมายถึง เขาอายุ 40 และเขาไม่มีอะไรต้องพิสูจน์ตัวเองอีก เขาคือตำนานของวงการมวยไปแล้ว” จิมูเอลกล่าวถึงความเห็นของตัวเองที่มีต่อคุณพ่อ

“อย่างไรก็แล้วแต่ ผมจะสนับสนุนเขาในทุกสิ่งที่เขาทำ ไม่ว่าทางเลือกของเขาจะเป็นอะไรก็ตาม”

คำกล่าวของจิมูเอลนั้นถูกต้อง แมนนี่ ปาเกียว ไม่จำเป็นต้องพิสูจน์อะไรอีกต่อไป หากแต่เป็นจิมูเอลเอง ที่ต้องพิสูจน์ตัวเองตัวเองในฐานะ “ลูกชายของ แมนนี่ ปาเกียว”

ความสำเร็จทุกอย่างของตำนานมวยชาวฟิลิปปินส์ คือเครื่องหมายคำถามที่จะติดตัว จิมูเอล ปาเกียว ไปตลอดชีวิต สถิติไร้พ่ายในการชกสามไฟต์ของจิมูเอล ไม่มีคุณค่าใดหากเทียบกับความสำเร็จของพ่อ แน่นอนว่าจิมูเอลรู้เรื่องดังกล่าวดี 

แต่แทนที่จะวิตกกังวลไปกับข้อกังขา และเสียงวิจารณ์ที่อาจตามมาหากเขาไปไม่ถึงความสำเร็จเดียวกัน จิมูเอลไม่นำคำพูดเหล่านั้นเหล่านั้นมาใส่ใจ และขอเดินไปตามเส้นทางของตัวเอง

Boxing-75

“ผมเชื่อว่าไม่มีใครสามารถก้าวไปอยู่ระดับเดียวกับพ่อได้ เขาคือแชมป์โลก 8 รุ่น แต่ตัวผมเองก็ไม่ได้ตั้งเป้าหมายไว้แบบนั้น” จิมูเอลกล่าวถึงเป้าหมายของตัวเองในอนาคต

“ทุกสิ่งที่ผมต้องการ คือขึ้นชกในฐานะนักมวยสมัครเล่น แต่ถ้าวันหนึ่งผมมีโอกาสก้าวไปสู่ระดับอาชีพ แน่นอนว่าผมจะก้าวไปสู่ตรงนั้นแน่นอน”

ลูกไม้ที่ตกไม่ไกลต้น ไม่ใช่ทุกครั้งที่ลูกไม้เหล่านั้นจะเติบโตออกมาสวยงามแบบต้นพ่อ ไม่มีใครรู้ว่าจิมูเอลจะประสบความสำเร็จได้มากแค่ไหนบนผืนผ้าใบ

แต่ไม่ว่าเขาจะไปได้ไกลแค่ไหน สำหรับ แมนนี่ ปาเกียว แล้ว มันไม่สำคัญเลยแม้แต่น้อย เขาพูดอย่างเต็มปากในตอนนี้ว่า เขาพร้อมสนับสนุนลูกชาย ในฐานะนักมวยคนหนึ่ง และเชื่อมั่นว่า จิมูเอล จะประสบความสำเร็จในฐานะแชมป์โลก แบบที่เขาทำได้อย่างแน่นอน

“ผมสนับสนุนลูกชายของผมในทุกความตั้งใจของเขา ไม่ว่ามันจะเป็นสิ่งใดก็ตาม”

“มวยสากลเป็นกีฬาที่ยาก แต่ผมเชื่อมั่นว่าลูกชายของผม มีความสามารถที่จะก้าวไปเป็นแชมป์โลก ถ้าเขามุ่งหน้าและตั้งใจอย่างเต็มที่ไปกับมัน” แมนนี่ ปาเกียว กล่าวทิ้งท้าย ถึงบทเรียนสำคัญที่เขาฝากไว้ให้ลูกชายของตัวเอง

เลือดใหม่แยกแผ่นดิน : เหตุผลที่ “เดอ ลา โฮย่า” เป็นนักชกเม็กซิกันที่คนท้องถิ่นรักไม่ลง

Boxing-60

เม็กซิโก คือประเทศที่มีนักมวยสากลระดับโลกที่ไปถึงระดับแชมเปี้ยนมากกว่า 250 ราย ทุกคนมีอัตลักษณ์ในการชกที่แตกต่างจากนักมวยชาติอื่นอย่างชัดเจน

ไม่ว่าพวกเขาจะเกิดที่ส่วนไหนของประเทศ นักมวยจากแดนจังโก้ จะมีสไตล์ที่เรียกว่า “ชกแบบเม็กซิกัน” นั่นคือพวกเขาไม่กลัวใคร พวกเขาใจกล้า เด็ดเดี่ยว พร้อมฝ่าเข้าไปชนหมัดของคู่ต่อสู้เพื่อแลกกับการได้ชกกลับและปิดเกม

#MainStand : เม็กซิโก คือประเทศที่มีนักมวยสากลระดับโลกที่ไปถึงระดับแชมเปี้ยนมากกว่า 250 ราย…

Posted by Main Stand on Friday, August 23, 2019

แม้กระทั่งนักมวยเม็กซิกันที่เกิดในสหรัฐอเมริกา หลายคนก็ไม่อาจจะทิ้งสไตล์นี้ได้ ขอแค่คุณมีเชื้อสายเม็กซิกัน และต่อยแบบเม็กซิกัน ชาวเม็กซิกันก็จะรักคุณ … ยกเว้นนักชกหนึ่งเดียว ออสการ์ เดอ ลา โฮย่า 

ชาวเม็กซิกันไม่ได้สนว่าเขาคว้าเหรียญทองโอลิมปิกให้สหรัฐอเมริกาในปี 1992 แต่พวกเขามีเหตุผลที่ว่าต่อให้ “โกลเด้น บอย” เก่งแค่ไหน และมีเชื้อสายเม็กซิกันไหลเวียนในตัวมากเท่าไร เดอ ลา โฮย่า ก็ถือเป็นเส้นขนานกับชาวเม็กซิกันอยู่ดี… อะไรทำให้มันเป็นแบบนั้น

เม็กซิกัน ที่เติบโตมาแบบ อเมริกัน

มันไม่ใช่การหาเหตุผลที่ยากเย็นเกินไปนัก ที่ชาวเม็กซิกันจะทิ้งถิ่นฐานบ้านเกิดและข้ามดินแดนมาแสวงโชคดังแผ่นดินใหญ่ที่ศิวิไลซ์กว่าอย่าง “สหรัฐอเมริกา” ที่ซึ่ง มีงาน มีเงิน และมีโอกาส รออยู่ สิ่งที่ขวางกั้นชาวเม็กซิกันสู่อเมริกามีเพียง แนวชายแดนความยาว 1,933 ไมล์ ที่ตัดผ่านชุมชน, แม่น้ำ ตลอดจนภูมิประเทศอันรกร้าง ของรัฐแคลิฟอร์เนีย, แอริโซนา, นิวเม็กซิโก และเท็กซัส

Boxing-61

และถึงแม้ว่าที่สุดแล้ว พวกเขายังไม่รู้ว่าตัวเองจะประสบความสำเร็จหรือไม่ แต่มันก็คุ้มที่จะแลก ดังนั้นตัวเลขของผู้อพยพจากเม็กซิโก เข้าสู่ อเมริกา จึงมากระดับ 100,000 คนเป็นอย่างน้อยในทุกปี และนั่นคือเหตุผลที่ว่าทำไม มวยฝีมือชาวเม็กซิกัน จึงซ่อนตัวอยู่ภายในรัฐ เท็กซัส หรือ แคลิฟอร์เนีย มากมายนัก ล่าสุดคือ แอนดี้ รุยซ์ จูเนียร์ ที่คว้าแชมป์โลกรุ่นเฮฟวี่เวตจากการคว่ำ แอนโธนี่ โจชัว ได้เมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา ซึ่งตัวของ รุยซ์ เองก็เป็นลูกชาวเม็กซิกันอพยพที่เกิดใน แคลิฟอร์เนีย เช่นกัน

ทว่าหนึ่งในคนที่ทำให้เกิดสงครามย่อมๆ ระหว่างชาวเม็กซิกันคือ ออสการ์ เดอ ลา โฮย่า ที่เป็นลูกของผู้อพยพชาวเม็กซิกัน พ่อและแม่ของเขา โจเอล และ เซซิเลีย มีเชื้อสายเม็กซิกันเต็ม 100% 

ตัวของ เดอ ลา โฮย่า นั้นได้เชื้อสาย เม็กซิกัน-อเมริกัน ตั้งแต่เกิด โดยย่านที่เขาอาศัยก็ไม่ต่างกันกับที่ เม็กซิโก มากนัก เดอ ลา โฮย่า โดนกลั่นแกล้งจากเด็กร่วมรุ่นและต้องวิ่งมาร้องไห้ที่บ้านแทบทุกวัน 

โจเอล พ่อของเขานั้นเป็นอดีตนักชกอาชีพ และผู้เป็นพ่อพยายามสอนลูกชายเป็นสำนวนเม็กซิกันเสมอว่า “Los Hombres no lloran” (ลูกผู้ชายต้องไม่ร้องไห้) นั่นคือจุดเปลี่ยนที่ทำให้ เดอ ลา โฮย่า เริ่มต้นบนเส้นทางสายนักสู้และคิดจะสู้คนในฐานะลูกผู้ชายคนหนึ่งขึ้นมาบ้าง

ทุกครั้งที่ลงนวมกับ โจเอล จูเนียร์ (พี่ชาย) เดอ ลา โฮย่า มักจะออกอาการใจฝ่อยกมือปัดป้องและสุดท้ายก็โดนชกจนร้องไห้เป็นประจำ ดังนั้น โจเอล จึงไม่ได้หวังว่า เดอ ลา โฮย่า จะเก่งกาจอะไร ขอแค่ให้พอมีวิชาติดตัวบ้างก็พอแล้ว

“ออสการ์ เกลียดการต่อสู้แบบใช้ร่างกายเข้าปะทะ เขาไม่เคยต่อยกับเด็กคนอื่นๆ ตามข้างถนน เขาใช้เวลาส่วนใหญ่กับการเล่นสเก็ตบอร์ดและเบสบอลมากกว่า ไม่มีอะไรรุนแรงมากนักในวัยเด็กของเขา” โจเอล จูเนียร์ ผู้เป็นพี่ชายเล่าถึง ออสการ์ เดอ ลา โฮย่า กับกิจวัตรประจำวันแบบเด็กอเมริกันทั่วไป

แชมป์โอลิมปิกของชาวอเมริกา

อย่างไรก็ตามคนเราเปลี่ยนกันได้ เขาถูกพ่อและพี่ชายจับเคี่ยวเข้าโรงยิมอย่างต่อเนื่อง และบ่อยๆ เข้าก็กลายเป็นความชอบ เพราะนอกจากจะทำให้เขาถูกรังแกน้อยลงแล้วมันยังทำให้ เดอ ลา โฮย่า ได้รับรางวัลจากสมาชิกในครอบครัวด้วย

Boxing-62

“ผมเริ่มคิดว่าผมอยากจะแข็งแกร่งและไม่ต้องร้องไห้ แรงจูงใจของผมคืออยากจะเก่งขึ้นเพื่อครอบครัวของเรา ทุกครั้งที่ผมต่อยและเอาชนะได้ ญาติๆ จะให้เงินรางวัล 1 ดอลลาร์บ้าง, 50 เซนต์บ้าง บางที 25 เซนต์ยังมี”

จุดเริ่มต้นเล็กๆ ทำให้ เดอ ลาโฮย่า เริ่มคลั่งมวยมากขึ้น คือนักมวยขวัญใจของเขา ชูการ์ เรย์ เลียวนาร์ด เจ้าของเหรียญทองโอลิมปิกปี 1976 ซึ่งตัวของ เดอ ลา โฮย่า ทุ่มเทกับการซ้อมมากขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นมือ 1 ของฝั่งแคลิฟอร์เนียและยังคว้าแชมป์จูเนียร์โอลิมปิกมาแล้วในปี 1988 พร้อมพ่วงรางวัลนวมทองคำ (สำหรับนักชกสมัครเล่น) ในเวลาต่อมาด้วย 

ปี 1992 เดอ ลา โฮย่า สามารถคัดตัวไปชกในฐานะตัวแทนทีมชาติสหรัฐอเมริกา รุ่นไลท์เวต ณ โอลิมปิกที่ บาร์เซโลน่า ได้ อย่างไรก็ตามไม่มีชาวอเมริกันคนไหนคาดหวังในตัวของเขามากนัก  เพราะเขาถือว่ายังใหม่มากในการแข่งระดับโอลิมปิกทว่ากลับกลายเป็น เดอ ลา โฮย่า เพียงคนเดียวที่สุดท้ายแล้วคว้าเหรียญทองกลับสู่แดนลุงแซมได้

Boxing-63

หลังจากเอาชนะคู่ชิงอย่าง มาร์โก รูดอล์ฟ จาก เยอรมันได้ เดอ ลาโฮย่า รีบไปเข้ามุมและขอธง 2 ชาติทั้ง อเมริกา และ เม็กซิโก จากพี่เลี้ยงเพื่อขึ้นมาสะบัดและบอกให้โลกรู้ว่าเขาคือความภูมิใจของทั้งสองประเทศ … อย่างไรก็ตามชาว เม็กซิกัน กลับไม่คิดแบบนั้น

นักมวยฉบับอเมริกันเกมส์

หลังจากเริ่มมีชื่อเสียง ออสการ์ เดอ ลา โฮย่า ก็ตัดสินใจเทิร์นโปรและอยู่ภายใต้สังกัดของ บ็อบ อารัม โปรโมเตอร์ชื่อดัง ซึ่งนั่นคือการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในแง่ของภาพลักษณ์ เพราะ บ็อบ อารัม จะเปลี่ยนให้ เดอ ลา โฮย่า ครองใจทั้งแฟนๆ ฝั่งอเมริกาตามใบสัญชาติ และครองใจแฟนๆ ฝั่งเม็กซิโกตามเชื้อชาติของเขา ตามแบบฉบับสตาร์ของ อเมริกันเกมส์ นั้นคือต้องเก่งด้วย และขายได้ด้วยในเวลาเดียวกัน

Boxing-64

เดอ ลา โฮย่า เริ่มเก็บชั่วโมงบินในระดับการชกอาชีพด้วยการสอยนักชกจากทั่วโลกทั้ง อเมริกา, ฮอนดูรัส, เม็กซิโก และ คิวบา ชัยชนะส่วนใหญ่เป็นชัยชนะด้วยการน็อค และครั้นจะให้นับคะแนนหน้าตาของเขาก็แจ่มใสเหมือนกับคนที่ไม่ได้ขึ้นชกเลยด้วยซ้ำ ภาพลักษณ์ดังกล่าวทำให้เขาถูกเรียกว่า “พริตตี้บอย” (ไอ้หน้าหล่อ)

“ธรรมชาติของนักมวยทีดีนั้นต้องดีตั้งแต่แนวคิด รวมถึงการวางตัวให้เป็นขวัญใจมหาชนให้ได้ เหมือนกับ อาลี นั่นแหละที่ครองใจทุกคนได้ ออสการ์ เป็นหนุ่มหล่อ พูดได้สองภาษา ชื่อเสียงโด่งดังและไร้มลทิน ที่สำคัญคือเขาเป็นคนที่ทำงานหนักมาก และในอนาคตคุณจะได้เห็นเขาตีตลาดในประเทศนี้ (อเมริกา)” นี่คือแผนที่ทีมโปรโมเตอร์วางไว้ อ้างอิงโดย เลจห์ สไตน์เบิร์ก ที่ปรึกษาของ เดอ ลา โฮย่า ในสมัยนั้น

เรื่องมันไม่ยุ่งยากและเป็นไปตามแผนที่วางไว้ สื่อมวลชนหลายเจ้าชอบใจในภาพลักษณ์ทั้งหมดที่วางไว้ โดยเฉพาะอย่ายิ่งในปี 1995 ที่ เดอ ลา โฮย่า คว้ารางวัลนักชกยอดเยี่ยมแห่งปีไปครองอีกด้วย

เมื่อชื่อเสียงของ เดอ ลา โฮย่า ขึ้นมาถึงขีดสุดก็ได้เวลาที่ บ็อบ อารัม จะท้าชนกับโปรโมเตอร์อีกขั้ว นั่นคือฝั่งของ ดอน คิง ที่มีนักมวยเม็กซิกันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งยุคอยู่ในสังกัด นั่นคือ ฮูลิโอ เซซาร์ ชาเวซ และไฟต์ดังกล่าวถูกกำหนดไว้ในปี 1996 ที่รัฐเนวาด้า สหรัฐอเมริกา

ดูเผินๆ นี่อาจจะเป็นแค่มวยไฟต์ใหญ่ที่เอานักมวยขาขึ้นมาต่อยกับตำนานที่กำลังอยู่ในช่วงปลายอาชีพ แต่สำหรับชาวเม็กซิกันแล้ว นี่คือไฟต์ที่พวกเขาตั้งตารอให้ ชาเวซ สอนเชิงเจ้าของเหรียญทองโอลิมปิกให้ได้โดยไว

สัญญาณเตือนก่อนชก 

เสียงโห่ร้องดังระงมไปทั่วตั้งแต่การทัวร์โปรโมตไฟต์นี้ 2 นักสู้เดินทางไปหลายเมืองทั้ง ฟีนิกซ์, ซาน ดิเอโก้ และ ลอส แอนเจลิส ซึ่งเป็นถิ่นฐานของคนเชื้อสายเม็กซิกัน ว่าง่ายๆ การโหมโรงนี้เหมือนกับการบอกว่าไฟต์ดังกล่าวจะเป็นไฟต์ที่ชิงความเป็นหนึ่งของวงการมวยเม็กซิโก ซึ่งเสียงโห่ส่วนใหญ่เป็นของฝั่ง เดอ ลา โฮย่า และเขาเองก็แปลกใจว่าเขาผิดอะไร?

Boxing-65

“มันแปลกดีเหมือนกัน ทั้งๆ ที่ผมเป็น “โกลเด้น บอย” แต่ทุกคนกลับอยู่ข้างเขา (ชาเวซ) ผมก็ไม่เข้าใจว่าผมทำอะไรผิด วันที่ผมได้เหรียญทองที่ บาร์เซโลน่า ผมเองก็ชูธงของทั้งสองประเทศด้วยมือของผมเอง แต่เมื่อผมเซ็นสัญญาจะต้องชกกับ ชาเวซ ทุกอย่างก็ย่ำแย่ไปหมด ผมโดนขู่ฆ่าด้วยนะเผื่อใครยังไม่รู้” เดอ ลา โฮย่า เล่าถึงความผิดปกติที่เขาสัมผัสได้

อย่างไรก็ตามการสัมภาษณ์ครั้งต่อๆ มากลับยิ่งทำให้ความน่าดูของไฟต์นี้เพิ่มขึ้น เดอ ลา โฮย่า บอกว่าจะน็อคเอาต์ ชาเวซ ให้ได้ และเขาเองไม่ได้หวังแค่จะเป็นยอดนักมวย แต่ตั้งเป้าไว้ที่การเป็นตำนานนักสู้อะไรแบบนั้น 

การแสดงออกของ เดอ ลา โฮย่า เหมือนกับคำนิยมที่เรียกกันว่า “อเมริกัน ดรีม” นั่นคือเกิดมาแล้วต้องไปให้สุด คว้าทุกโอกาสที่เข้ามาเพื่อความยิ่งใหญ่ และไม่สนว่าจะต้องเจอกับอุปสรรคอะไรก็ตาม เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ง่ายๆ สำหรับชาวเม็กซิกันที่อพยพเข้ามาในอเมริกา พวกเขาอยากจะมี อเมริกัน ดรีม กันทุกคน และนั่นคือเหตุผลที่ว่าทำไมกลุ่มชาวเชื้อสาย “เม็กซิกัน-อเมริกัน” จึงมองว่าการต่อยกันของทั้งคู่ก็แค่เรื่องธรรมดาของการชกมวยเท่านั้น

แต่สำหรับชาวเม็กซิกันที่อาศัยอยู่ในเม็กซิโก พวกเขาไม่ได้คิดว่ามันเป็นแค่มวย ไฟต์นี้ยิ่งใหญ่มากและมันเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงความขัดแย้งทางวัฒนธรรมเลยทีเดียว

เม็กซิกัน 2 ก๊ก 

“การชกครั้งนี้มีปรากฎการณ์เกิดขึ้น เพราะมันทำให้มันมีการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายออกเป็น 2 พวกนั่นคือเสียงของฝั่ง “เม็กซิกัน-อเมริกัน” และฝั่งของชาว “เม็กซิกันเต็ม 100%” นี่คือมุมมองของ ซามูเอล เรกัลญาโด้ ศาสตราจารย์วิชาประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัย แคลิฟอร์เนีย ชี้ให้เห็นอีกนัยยะหนึ่ง

Boxing-66

“ทำไมถึงเป็นแบบนั้น? ย้อนกลับไปมันเริ่มตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 คนเม็กซิกันไม่เคยนับพวกอพยพเข้าไปในอเมริกาและถือสองสัญชาติ (เม็กซิกัน-อเมริกัน) เป็นพวกเดียวกับพวกเขา ไฟต์ระหว่าง ชาเวซ และ เดอ ลา โฮย่า ทำให้ชุมชนชาวเม็กซิกันตึงเครียดและซับซ้อนในเวลานั้น” เขากล่าวเสริม

แน่นอน เดอ ลา โฮย่า ครองหัวใจแฟนฝั่งอเมริกัน และ เม็กซิกัน-อเมริกัน ส่วน ชาเวซ นั้นไม่ต้องพูดถึงเขาต่างกับ เดอ ลา โฮย่า สุดขั้ว เขาภูมิใจในความเป็นเม็กซิกันของตัวเองเป็นอย่างมาก และที่สำคัญคือเขาไม่พูดภาษาอังกฤษด้วย ภาษาสเปนเท่านั้นที่ ชาเวซ จะพูดในการให้สัมภาษณ์ นั่นทำให้เขาเป็นตัวแทนของชาวเม็กซิกันท้องถิ่นอย่างแท้จริง 

ซึ่งลึกๆ แล้ว ชาวเม็กซิกันมักจะโดนดูแคลนจากชาวอเมริกันอยู่เสมอจนมีคำที่กำเนิดขึ้นใหม่ว่า “เม็กซิกัน จ็อบ” ที่ชาวอเมริกันใช้เรียกงานประเภทต้องคลุกคลีกับความสกปรกทั้ง ล้างจาน, ซักผ้า หรือก่อสร้าง อะไรแบบนั้น ซึ่งนั่นคือสิ่งที่พวกเขาไม่ชอบใจ 

ความต่างกันมากของทั้งสองคนคือ เดอ ลา โฮยา อาจจะเติบโตในชุมชนเม็กซิกันที่ ลอส แอนเจลิส แต่เขาทิ้งรากเหง้าของตัวเองไปแล้ว เขามุ่งเข้าสู่ชีวิตความเป็นอยู่แบบอเมริกันเต็มตัวด้วยการพยายามพรีเซนต์ตัวเองให้เป็นดารามากกว่าเป็นนักชกเหมือนกับ ชาเวซ … เรื่องวัฒนธรรมตัดทิ้งไปได้เลย ความยิ่งใหญ่เท่านั้นที่ เดอ ลา โฮย่า ต้องการ 

“เดอ ลา โฮย่า เป็นต้นแบบของ อเมริกัน ดรีม และเขาก็ไม่ค่อยสบอารมณ์นักที่โดนแฟนเม็กซิกันโห่และไม่ยอมรับ ซึ่งเขามักจะสวนด้วยแนวคิดที่ว่า ‘แล้วจะทำไม คุณจะให้ผมอยู่ในกระท่อมไปตลอดชีวิตงั้นเหรอ? ทำไมไม่ยอมออกไปหาสิ่งที่ดีกับตัวเองล่ะ?'” ซามูเอล เรกัลญาโด้ ขยายความเรื่องนี้ให้ชัดขึ้นอีก 

และเมื่อฝั่ง ชาเวซ ได้พูด เขาทำเรื่องนี้ให้ชัดเจนขึ้นอีกว่าไฟต์นี้คือการแบ่งข้าง… “ผมคือสายเลือดและเป็นชาวเม็กซิกันตัวจริง ส่วนเขา (เดอ ลา โฮย่า) ไม่ใช่ เขาเป็นคนอเมริกันไปแล้ว” ชาเวซ กล่าวก่อนขึ้นชก

หลังชกผมก็ยังไม่เข้าใจอยู่ดี?

ไฟต์ดังกล่าวไม่ได้ฉิวเฉียดอะไรนัก ชาเวซ โดน เดอ ลา โฮย่า ที่สดกว่า ใหม่กว่า หนักกว่า วางหมัดและน็อคตั้งแต่ยกที่ 4 ซึ่งนั่นคือผลแห่งความพยายามของ เดอ ลา โฮย่า ที่ต้องการสยบ ชาเวซ เพื่อความยิ่งใหญ่ ว่ากันว่าเขาเต็มที่กับการซ้อมมาก เขาไม่ดื่มแอลกอฮอล์เลยตลอด 3 เดือนก่อนขึ้นชก

Boxing-67

“ตอนชกผมเห็นแผลของเขาเปิด และผมพยายามใจเย็น โฟกัสกับเรื่อง ณ ปัจจุบันให้ได้ก่อน แม้ ฮูลิโอ เซซาร์ ชาเวซ จะเป็นไอดอลของผม แต่งานของผมคือน็อคเขาให้ได้ ผมไม่มีความรู้สึกใดๆ กับเขาเมื่อขึ้นเวที”

เดอ ลา โฮย่า ป้องกันแชมป์ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการย้ำแค้น ชาเวซ อีกครั้งในปี 1998 และยังมั่นคงในแนวทางเดิม เขากลายเป็นยอดมวยในเวลาต่อมา และในอีกด้านหนึ่งเขายังเป็น “โกลเด้น บอย” ของจริง เพราะในปี 2000 เขาเข้าสู่วงการบันเทิงและออกซิงเกิลที่ชื่อว่า “Run To Me” แน่นอนว่าเนื้อร้องนั้นเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมดและมันประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งด้วย ชีวิตประจำวันของเขาดูหรูหราใส่สูทราคาแพงพูดคุยธุรกิจ และหาเวลาว่าไปตีกอล์ฟ เขาเป็นแบบนั้นเสมอมาจนทุกวันนี้ 

เขายังคงสงสัยในเรื่องเดิมแม้ไฟต์ๆ นั้นจะจบลงไปแล้ว มันคือไฟต์ที่เปลี่ยนเรื่องราวมากมายรอบตัวของเขาและทำให้รู้ว่าเรื่องการชกระหว่างเขาและ ชาเวซ เป็นอะไรที่ละเอียดอ่อนมาก ซึ่งตัวของ เดอ ลา โฮย่า เติบโตมาอีกแบบ เขาต้องการแค่ชนะก็เท่านั้น เรื่องวัฒนธรรมและความแตกแยกไม่น่าเป็นส่วนหนึ่งกับการชกได้

“มันเป็นการต่อสู้ที่ทำให้ผมสงสัยในตัวเองนะว่าที่สุดแล้ว ‘ผมเป็นใคร?’ ตัวตนและรากเหง้าของผมหายไปที่อเมริกาหรือก็ไม่น่าใช่ ผมมีเชื้อสายของชาวเม็กซิกันไหลเวียนในตัว” 

“แต่แน่นอนผมก็ต้องภูมิใจในความเป็นอเมริกา ประเทศที่ทำให้ผมมีทุกสิ่งทุกอย่างในตอนนี้ ไฟต์นั้นถือเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบาก ผมรู้สึกกดดันเพราะมันคือการปะทะของวัฒนธรรมครั้งใหญ่”

“ผมถูกมองเป็นตัวร้ายเพราะว่าเกิดที่อเมริกา ส่วนชาเวซเป็นพระเอกเพราะเป็นเม็กซิกัน คิดดูแล้วกัน ตอนที่ผมชนะเขา คนในครอบครัวผมยังมาบอกกับผมเลยว่า ‘แกจะมาชนะฮีโร่ของเราทำไมวะ’ เชื่อไหมล่ะ ครอบครัวของผมยังหงุดหงิดกับชัยชนะของผมเลย” 

Boxing-68

ที่สุดแล้วความตึงเครียด และเส้นแบ่งระหว่างวัฒนธรรมกับความแตกแยกที่ถูกตัดสินผ่านการชกของ เดอ ลา โฮย่า ของ ชาเวซ ก็ค่อยๆ หายไปตามกาลเวลา … เหลือเพียงประเด็นเดิมๆ ที่ถูกเอาไปอ้างอิงกับบริบทใหม่ๆ ในปัจจุบัน อย่างเรื่องที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีของ สหรัฐอเมริกา พยายามที่จะเล่นงาน เม็กซิโก เหมือนกับลูกไก่ในกำมือ ด้วยนโยบายเพิ่มภาษีสินค้าจากเม็กซิโกอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย เริ่มต้นที่ร้อยละ 5 เพื่อเป็นการลงโทษและกดดันที่ชาติเพื่อนบ้านไม่พยายามแก้ไขปัญหาผู้อพยพให้มีประสิทธิภาพเพียงพอ รวมถึงแนวคิด “สร้างกำแพงปิดพรมแดน” … แน่นอนเรื่องนี้ทำให้เกิดความแบ่งแยกและเกลียดชังยิ่งกว่าที่ เดอ ลา โฮย่า เคยทำไว้หลายเท่า

กว่าที่ทุกคนจะเข้าใจได้ว่า เดอ ลา โฮย่า ก็แค่ทำในสิ่งที่เขาต้องทำ “โกลเด้น บอย” ก็ต้องกลายเป็นแพะรับบาปอยู่นานหลายปี ตัวเขาเองไม่เคยเกลียดสายเลือดเม็กซิกันแม้แต่น้อย แค่บทบาทในเวลานั้นมันถูกวางให้ลงล็อกพอดิบพอดีเท่านั้นเอง

“ผมรู้สึกเป็นเกียรติและภูมิใจเสมอที่ได้อยู่ในสังเวียนเดียวกับฮีโร่ในวัยเด็กของผม … มันเป็นชะตากรรมที่ผมจะต้องเผชิญหน้ากับ ชาเวซ บนสังเวียน”

“มันคือการผลัดเปลี่ยนจากยุคเก่าสู่ยุคใหม่และทำให้ผมก้าวขึ้นสู่ความนิยมอีกหนึ่งระดับ ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วผมก็เป็นคนเดิมของผมอย่างนี้ ไม่เคยเปลี่ยนแปลงอะไรเลยแม้แต่น้อย”

เดอ ลา โฮย่า กล่าวทิ้งท้าย 

“ไทสัน” ยังนับสิบ : ความลับของ “บัสเตอร์ ดักลาส” ในไฟต์พลิกล็อคที่สุดในประวัติศาสตร์มวยโลก

Boxing-47

“ชัดสุดๆ มันจบแน่นอน ไทสัน ไม่สามารถลุกขึ้นมาสู้กับผมได้อีก เขานอนหลับปุ๋ยอยู่บนสังเวียนนั่นไง” นี่คือสิ่งที่ เจมส์ “บัสเตอร์” ดักลาส กล่าวไว้หลังจากที่เขาคว่ำนักชกเฮฟวี่เวตที่ดีที่สุดแห่งยุคอย่าง ไมค์ ไทสัน ซึ่งเป็นผลการแข่งขันที่ช็อคโลก

ไม่ค้านสายตาแต่ว่าน่าตื่นตะลึง ไทสัน ไม่เคยแพ้ใครมาก่อน 37 ไฟต์และเป็นการชนะน็อค 33 ไฟต์ เขาเดินขึ้นเวทีเพื่อซัดกับ ดักลาส ด้วยเช็มขัดแชมป์ 3 สถาบันหลัก WBA, WBC, IBF ไม่ต้องถามว่าใครคือคนที่เป็นต่อ และใครคือหมูในสายตาเซียนมวย

ทว่าสุดท้ายเรื่องเหลือเชื่อก็เกิดขึ้นเมื่อมวยรองกลับน็อคมวยแชมป์ได้ … จริงอยู่ที่กีฬานั้นมีแพ้มีชนะ แต่ชัยชนะไฟต์นี้ของ บัสเตอร์ ดักลาส นั้นไม่ธรรมดา … มันมีเหตุผลที่ว่าทำไมเขาจึงต่อยเก่งขึ้นกว่าเดิมแบบก้าวกระโดด ฟุตเวิร์กเร็วขึ้น, อึดขึ้น, ว่องไวขึ้น และหมัดหนักขึ้น ในไฟต์กับ ไทสัน ไฟต์นี้

ห่างกันเหลือเกิน

ไฟต์ที่กล่าวถึงในข้างตันนั้นเกิดขึ้นที่ โตเกียว โดม กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ในปี 1990 ในตอนนั้น ไทสัน กลายเป็นมวยแม่เหล็กของโลกและ ดอน คิง โปรโมเตอร์ของเขาก็ผลักดันให้ “ไอออน ไมค์” ออกเดินทางไปชกในต่างแดนมากขึ้นเพื่อหาเงินเข้ากระเป๋าและสร้างชื่อเสียงให้ได้มากกว่าเดิม เหมือนกับที่เคยทำสำเร็จมาแล้วกับไฟต์ที่ชนะ โทนี่ ทับบ์ส ณ สถานที่เดียวกันเมื่อปี 1988 มาอย่างสบายๆ ด้วยการน็อคตั้งแต่ยกที่ 2

Boxing-48

เหตุผลที่ใครก็อยากดู ไทสัน ไม่ใช่เพราะว่าเขาเป็นแชมป์มากมายหลายสถาบัน แต่มันคือเสน่ห์ในการชกต่างหากที่โดดเด่นเข้าตา ไทสัน หมัดหนัก เป็นมวยไฟเตอร์ที่มีความเร็วสูงที่สุดในระดับรุ่นเฮฟวี่เวต สายตาว่องไว มุดหลบหมัดของคู่ชกเก่งมากและหาจังหวะปล่อยหมัดตรงแบบเปรี้ยงเดียวร่วงได้แบบไม่มีปี่มีขลุ่ย 

ว่ากันว่าหาก ไทสัน ขึ้นเวทีแล้วคนดูต้องกลั้นปัสสาวะอุจจาระกันให้ดี เพราะหากลุกไปเข้าห้องน้ำเมื่อไหร่ ไม่มีใครรับประกันว่าคุณจะได้เห็นช็อตสำคัญๆ หรือหมัดน็อคหรือเปล่า … นั่นคือเหตุผลที่ ไทสัน ถือเข็มขัด 3 สถาบันหลักก่อนไฟต์ดังกล่าวจาก WBA, WBC และ IBF หนำซ้ำก่อนชกไฟต์นี้ ไทสัน ชนะมารวด 37 ไฟต์ และเป็นการน็อคเอาต์ถึง 33 ครั้ง … ว่าแต่คู่ชกของเขาล่ะเป็นใครมาจากไหน?

เจมส์ “บัสเตอร์” ดักลาส คือนักมวยที่แก่กว่า ไทสัน 7 ปี ณ ไฟต์นั้น ดักลาส อายุย่าง 30 ปี ส่วน ไทสัน มีอายุ 23 ปี และกำลังอยู่บนจุดสูงสุดของรุ่น ขณะที่ตัวของผู้ท้าชิงจะเรียกว่า “ไร้แต้มต่อ” ก็พอจะใช้คำนั้นได้ เพราะเขาต่อยมาจนอายุ 30 ปี แต่ก็ยังไม่เคยเป็นแชมป์เลยแม้แต่สมัยเดียว ใกล้เคียงที่สุดในการเป็นแชมป์ของ ดักลาส คือในปี 1987 ที่ได้ท้าชิงแชมป์ของ IBF กับ โทนี่ ทัคเกอร์ แต่สุดท้ายก็ไปไม่ถึงฝันแพ้น็อคไปในยกที่ 10 ตามเคย

Boxing-49

เหตุผลที่เขาไม่ได้เก่งระดับนรกแตกคงเป็นเพราะว่า เขาเริ่มชกมวยช้ากว่านักมวยระดับแชมป์โลกทั่วไปพอสมควร ตัวของ เจมส์  ดักลาส นั้นมีพ่อเป็นอดีตนักมวยอาชีพก็จริง แต่ช่วงวัยรุ่นเขาใช้เวลาไปกับการเล่น บาสเกตบอล และเคยเล่นในเกมชิงแชมป์ประจำรัฐโอไฮโอ กับสถาบัน โรงเรียนไฮสคูล ลินเดน แมคคินนีย์ ในปี 1977 อีกด้วย ก่อนจะกลายเป็นผู้เล่นระดับขึ้น ฮอลล์ ออฟ เฟม ของ คอฟฟีวิลล์ คอมมิวนิตี คอลเลจ หลังจากนั้นไม่นาน เรียกว่ากว่าจะได้จริงเอาจังเอาดีกับการชกมวยจริงๆ เขาก็อายุเกือบ 20 ปี แล้ว 

บันไดขั้นที่ไร้ปัญหา 

แม้จะเริ่มต้นชกมวยช้าแต่ ดักลาส ก็พัฒนาตัวเองได้ไวมาก นิตยสาร ริง แม็กกาซีน จัดอันดับให้เขาเป็นนักชกเฮฟวี่เวตอันดับ 7 ของยุคนั้น เหตุผลเพราะหลังจากที่เขาแพ้ให้กับ ทัคเกอร์ ในการท้าชิงเมื่อปี 1987 ที่กล่าวไป ดักลาส ก็กลับมาอยู่ในฟอร์มที่ดีชนะมา 6 ไฟต์ติดต่อกัน ดังนั้น ดักลาส จึงเป็นคู่ชกที่ “เหมาะสม” ในมุมมองของฝั่งไทสัน

Boxing-50

เขาไม่ได้อ่อนจนเกินไป เขาเป็นนักชกอันดับที่ 7 ของโลกในรุ่นนี้ นั่นทำให้หากในบั้นปลายแล้ว ไทสัน เป็นฝ่ายชนะ มันก็ถือเป็นชัยชนะที่สมเกียรติ ไม่ได้ง่ายดายเหมือนมวยล้มต้มคนดูแต่อย่างใด … เรื่องค่าตัวนั้นคงไม่ต้องพูด แม้ไม่มีตัวเลขก่อนชกเปิดเผยชัดเจน แต่ความเป็นมวยแม่เหล็กนั้นสามารถคาดคะเนได้ว่า ไทสัน ฟันเงินมากกว่าจมแน่นอน และเผลออาจจะมากกว่าที่ ดักลาส ได้เกินกว่า 4-5 เท่าด้วยซ้ำไป 

ดอน คิง กับ ไทสัน ได้แต่ยิ้มกริ่มในการเจอกับ ดักลาส แม้ดีกรีจะพอมีแต่สำหรับ ไทสัน แล้ว ดักลาส ถือว่าเป็นคู่ชกที่นิ่มๆ และพร้อมจะเป็นบันไดให้เขายืดสถิติชนะ 38 ไฟต์รวด และอาจจะเป็นการเพิ่มสถิติน็อคเอาต์คู่ชกเป็น 34 ครั้งด้วย 

เรื่องความห่างชั้นและการมอง ดักลาส เป็นบันไดมีหลายข้อมูลที่ใช้อ้างอิงได้ อย่างน้อยก็จากปากของ ไมค์ ไทสัน เอง

“8 มกราคม 1990 ผมจะนั่งเครื่องไปลงที่ โตเกียว เมื่อเครื่องจอดผมจะถีบประตูดัง ปัง! และร้องดังๆ เลยว่า ‘กูไม่ได้มาเพื่อต่อยกับใคร แต่กูจะมาปาร์ตี้และขยี้สาวที่นี่โว้ย'” นี่คือสิ่งที่ ไทสัน ให้สัมภาษณ์หลังรู้ว่าต้องชกกับ ดักลาส … และมันไม่ใช่ครั้งเดียวที่ ไทสัน พยายามจะบอกให้โลกรู้ว่าศึกไฟต์นี้เขาปิดประตูแพ้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

เหตุผลที่ ไทสัน กล้าพูดอะไรแบบนั้นเพราะความจริงเขาแทบไม่เห็น ดักลาส ในสายตาเลยด้วยซ้ำ การที่เขามาชกที่ โตเกียว ไฟต์นี้ เกิดจากการผลักดันของ ดอน คิง ซึ่งว่ากันว่าโปรโมเตอร์หัวฟูพยายามจะเรียกเก็บเงินคนดูคนละ 60 ดอลลาร์ ตั้งแต่การซ้อมเลยทีเดียว

Boxing-51

แม้จะได้เงินก้อนโต แต่ ไทสัน เองไม่เห็นด้วยกับ ดอน คิง เลยด้วยซ้ำ เขาเชื่อว่านักชกอย่าง ดักลาส ไม่คู่ควรกับการเสียเหงื่อของแชมป์โลกอย่างเขา ทว่าอย่างที่ใครรู้กันดีว่า ดอน คิง แสบขนาดไหน ในสัญญาที่ ไทสัน เซ็นไว้กับเขาเมื่อครั้งอดีตกลายเป็นบ่วงมัดคอ “ไอออน ไมค์” ที่ต้องทำตามที่ ดอน คิง สั่งแทบทุกอย่าง ไม่อย่างนั้นจะต้องโดนปรับอย่างหนักแบบได้ไม่คุ้มเสีย

“ผมไม่ได้อยากจะชกกับ ดักลาส มากมายอะไรหรอก หมอนี่ไม่ค่อยน่าสนใจเท่าไหร่” ไทสัน ย้ำอีก “ผมไม่ต้องดูเทปการชกเก่าๆ ของเขาหรอก ดูสถิติก็รู้แล้ว ใครก็ตามที่เคยน็อค ดักลาส ได้ในอดีต ผมว่าผมน็อคพวกนั้นได้ทุกคนนั้นแหละ”

เขาไม่ได้แค่พูดเล่น เขาทำเป็นไม่ได้สนใจไฟต์นี้จริงๆ เพราะเมื่อโปรแกรมยิ่งใกล้เข้ามา สิ่งเดียวที่ ไทสัน ยอมเสียเหงื่อคือการมีเซ็กส์กับผู้หญิงไม่ซ้ำหน้า ว่ากันว่า 6 สัปดาห์ก่อนการชก ไทสัน “ใส่ยับ” บนเตียงแบบไม่พักวัน ซึ่งเขาเรียกมันว่านี่แหละ “การฝึกซ้อมของผมสำหรับ ดักลาส” 

ดักลาส ผู้ยอมรับต่อโชคชะตา

ยิ่งใกล้วันชกโลกก็ยิ่งตื่นตัว บ่อนพนันถูกกฎหมายทั่วโลกเปิดราคามาแบบโหดสุดๆ ราคาที่เปิดมาคือ 42-1 อธิบายให้เข้าใจง่ายคือ หากคุณกำเงิน 1 ดอลลาร์ ไปลงว่า ดักลาสจะพลิกล็อคช็อคโลกได้ ก็จะได้เงินกลับมาถึง 42 ดอลลาร์ (ไม่รวมทุน) หากการพลิกล็อคนั้นกลายเป็นความจริง

Boxing-52

ถึงกระนั้น คนวงการหรือคนแทงมวยทุกคนรู้ดีว่าบนสังเวียนผ้าใบ อะไรก็เกิดขึ้นได้โดยเฉพาะมวยรุ่นยักษ์แบบนี้ หลับหูหลับตาชกมั่วซั่วต่อให้ ไทสัน ก็เถอะ สามารถโดน “หมัดเขวี้ยงควาย” โป้งเดียวหงายท้องเลยก็ได้ และเมื่อธรรมชาติของมวยรุ่นยักษ์มันเป็นเช่นนี้จึงทำให้โดยปกติแล้วหากราคาเปิดมาแบบน่าเสี่ยงแบบนี้ “ขารอง” คงหาทางหยอดไว้หวังพลิกล็อกไม่มากก็น้อย

แต่ไฟต์นี้แตกต่างออกไป … เพราะทุกคนรู้ว่ามันชัวร์ซะยิ่งกว่า เจ้ามือพนันแทบทุกโต๊ะปิดรับแทงคู่นี้หมดเพราะกลัวไม่มีคนมาลงเงินด้วย มีเพียง 1 เจ้าที่ชื่อ The Mirage ที่เป็นคาสิโนใน ลาส เวกัส ที่ยินดีเปิดรับแทงมวยไฟต์นี้ … ทว่าทั้งๆ ที่เหลือแห่งเดียวแท้ๆ แต่กลับไม่มีใครกล้าเสี่ยง ว่ากันว่าแม้แต่นักพนันที่เมาจนหัวทิ่มบ่อที่สุดใน ลาส เวกัส ก็ยังมีสติพอที่จะเลี่ยงเดิมพันฝั่ง บัสเตอร์ ดักลาส

อย่าว่าแต่นักพนันเลย แม้แต่ตัวของ ดักลาส เองก็ไม่คิดว่าไฟต์นี้จะได้อะไรมากกว่าค่าตัวก่อนขึ้นชก … แต่อย่างน้อยๆ ถ้าเขาได้เหยียบเวทีเขามั่นใจว่าเขาจะสู้เต็มที่แน่นอน

“ผมรู้ดี ผมมาอยู่ที่นี่โดยแทบจะไม่มีโอกาสอะไรให้กับผมเลย แทบไม่มีใครเชื่อน้ำยาผมหรอก แต่ผมไม่สนใจอะไรนักขอแค่คนของผมมั่นใจในตัวผมก็พอแล้ว … ถ้าไม่คิดจะสู้ก็ไม่รู้จะเทิร์นโปรมาเพื่ออะไร” ดักลาส กล่าว

การซ้อมที่ญี่ปุ่นของ ดักลาส สวนทางกับ ไทสัน คนละโลก เขาไม่รู้ว่า ไทสัน ซ้อมอะไรบ้าง เพราะฝ่ายจัดนั้นเตรียมโรงยิมไว้ยิมเดียวและใช้ร่วมกันทั้ง 2 คน … ไทสัน จะได้ซ้อมก่อน และต่อด้วยทีมของ ดักลาส จะได้เริ่มซ้อมเป็นทีมถัดไป

“ทีมของเราจะเข้าโรงยิมหลังจากทีมของ ไมค์ ใช้งานเสร็จ สิ่งที่เราเห็นหลังใช้ต่อจากเขาคือ เก้าอี้ทุกตัวพลิกคว่ำระเนระนาดไปหมด เหมือนกับใครบางคนทำอะไรที่ยิ่งใหญ่ไว้” ดักลาส เล่าความหลังก่อนที่จะขึ้นชกไฟต์ดังกล่าว

“ส่วนการซ้อมของเราน่ะเหรอ? เงียบเชียบเลย มีแต่ผมและเทรนเนอร์แค่ 2 คน แต่มันก็ดีนะ สงบดีเหมือนกัน ไม่มีใครดูเราซ้อมหรอก และนั่นคือหนึ่งในแรงจูงใจเหมือนกัน”

ดักลาส ซ้อมไปแบบเงียบๆ ไม่มีตัวตนอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน … และท้ายที่สุดวันแห่งการชี้ชะตา 11 กุมภาพันธ์ 1990 ก็มาถึง โลกอยากจะเห็นเขาโดนน็อค ซึ่งเขาเปลี่ยนใจใครไม่ได้ ดักลาส ค่อยพันหมัดและสวมใส่นวมสีแดง เขาเป่าปากหนึ่งครั้งเพื่อเอาความกดดันบางอย่างออกไป และเดินขึ้นเวทีด้วยความรู้สึกที่ “อยากชนะ” อย่างบอกไม่ถูก

โค่นมฤตยู 

สิ่งเดียวที่ ดักลาส ได้เปรียบในมุมมองของคนนอกคือส่วนสูงและช่วงชกที่ยาวกว่า ดักลาส สูง 193 เซนติเมตร ช่วงชก 211 เซนติเมตร ขณะที่ ไทสัน นั้นสูงแค่ 178 เซนติเมตร ช่วงชก 180 เซนติเมตร เท่านั้น ซึ่งหากอยากจะชนะเขาต้องเอาจุดแข็งนี้มาใช้ประโยชน์ให้ได้

Boxing-53

ระฆังยกแรกดังขึ้นและเป็นอย่างที่ทุกคนคาด ไทสัน เดินมาหวังสังหารให้งานจบๆ ไป แต่ ดักลาส เตรียมตัวมาดี เขามีฟุตเวิร์กที่ฉากหลบได้หลายครั้ง หนำซ้ำยังมีหมัดแย็บที่ใช้ความยาวของช่วงแขนจิ้มเข้าหน้าให้ ไทสัน ได้หน้าสั่นอยู่เรื่อยๆ หนำซ้ำการดักชกจังหวะ 2 ของ ดักลาส ก็แม่นยำเกินกว่าที่ใครจะคาดคิดได้ ไทสัน กำลังลำบากแบบที่ไม่เคยมีใครเห็น 

อย่างไรก็ตามขณะที่ตัว ไทสัน เองแม้จะโดนเยอะผิดปกติ ซึ่งแน่นอนว่าเกิดจากการอ่อนซ้อมไปบ้าง แต่ความเร็วยังเชื่อขนมกินได้ เขาซัดหมัดใส่ ดักลาส ไปไม่น้อย ซึ่งมันเป็นเรื่องน่าแปลกที่ความหนักของหมัด ไทสัน ถูก ดักลาส ทานทนได้ถึง 7 ยกด้วยกัน … แม้จะเซ จะส่าย แต่ ดักลาส เก็บอาการและไม่ยอมล้มให้เสียนับเลยใน 7 ยกแรก

นั่นอาจจะทำให้ ไทสัน หงุดหงิด เพราะทันทีที่เปิดยก 8 เหมือนเขาเดินเข้าเกียร์ 5 คราวนี้ ดักลาส เดินสเต็ปเหมือนยกที่ผ่านๆ มา แต่ ไทสัน กลับแก้เกมมาดี เผลอแว่บเดียวเขาเข้าวงในและอัปเปอร์คัตขวา “เปรี้ยง!” …. ดักลาส โดนเต็มๆ ตาลอยและล้มลง กองเชียร์เสียงดังสนั่นด้วยความดีใจ “จบแล้ว จบแน่ๆ” ใครที่เห็นอัปเปอร์คัตนั้นไม่สามารถคิดเป็นใดไปอื่นได้

Boxing-54

“ผมร่วงเลย … ไม่ไหวจริงๆ ผมต้องล้มเพื่อขอเวลาพักสักนิดจากหมัดนั้น ผมทรุดตัวไปพร้อมๆ กับมองไปที่หน้าของ ไมค์” ดักลาส เล่านาทีหน้าจอดับ ขณะที่ ไทสัน ยืนมองเขาจากระยะประมาณ 3 เมตร ด้วยท่ากัดฟันยางอันยียวน … ดักลาส ลุกขึ้นหลังจากรรมการนับ 8 

ยกที่ 9 ขณะที่ใครคิดว่า ดักลาส ทนพิษบาดแผลไม่ไหวแน่ ทว่าไม่รู้อะไรปลุกเขาขึ้นมาอีกครั้ง เขากลับออกมาจากมุมและเดินจ้วงเข้าใส่ไทสันแบบรัวและเร็วจน ไทสัน เปิดตำราตั้งรับไม่ทัน 

“ไงล่ะโว้ย ตอนนี้ฉันเก่งขึ้นบ้างรึยัง แกคิดว่ายังไงวะไมค์” นี่คือความรู้สึกที่ ดักลาส อธิบายออกมาจากฟอร์มการชกที่่ดุดันหลังจากไปทัวร์นรกมาในยกที่ 8

Boxing-55

ไม่ต้องรอถึงการตัดสินอีกแล้วต่อไปนี้ ไทสัน อาจจะเข้าเกียร์ 5 แต่ตอนนี้ ดักลาส เข้าเกียร์ 6 บวกติดไนตรัสไปแล้ว เมื่อระฆังยกที่ 10 ดังขึ้น ดักลาส ไม่แย็บอีกต่อไป เขาเดินเข้าประชิดและปล่อยหมัด หนึ่ง-สอง ตามตำราง่ายๆ หลังสบโอกาส แต่เข้าเป้าจังๆ ทุกดอก 8 วินาทีเท่านั้นสำหรับชุดใหญ่ที่เตรียมมา ทุกอย่างจบลงทันที

อัปเปอร์คัตขวา-ซ้ายตรง-ขวาตรง และปิดด้วยหมัดซ้ายอีกหนึ่งครั้ง … เปรี้ยง! เปรี้ยง! เปรี้ยง! และ โป้ง!  ไทสัน รับไปเต็มๆ และเมื่อทุนเดิมเขาเป็นนักชกสายบุกไม่มีจุดเด่นเรื่องความแข็งของคางแล้ว ไอออน ไมค์ หมดสภาพลงไปกองกับพื้นทันที  

Boxing-56

“ชัดสุดๆ มันจบแน่นอน ไทสัน ไม่สามารถลุกขึ้นมาสู้กับผมได้อีก เขานอนหลับปุ๋ยอยู่บนสังเวียนนั่นไง” บัสเตอร์ ดักลาส เล่านาทีสร้างตำนาน “ไฟต์เฮฟวี่เวตที่พลิกล็อกที่สุดในประวัติศาสตร์”

ทำไมแกเก่งขนาดนี้วะ?

ทีมของ ดักลาส ทุกคนวิ่งขึ้นมาบนเวที ลูกชายวัย 11 ขวบของเขาสวมหมวกแก็ปที่เขียนว่า “บัสเตอร์ ดักลาส” ถูกพ่อของเขาแบกขึ้นบนไหล่ อันเดอร์ด็อกจากโอไฮโอ คว้าเงินรางวัลเพิ่มเป็น 1.6 ล้านเหรียญ และแน่นอนมันมากที่สุดเท่าที่เขาเคยได้รับมา

Boxing-57

และหลังจากฉลองกันได้ไม่นานโฆษกประจำสนามเดินขึ้นมาและสัมภาษณ์ ดักลาส ซึ่งเป็นผู้ชนะ

“นี่อาจจะดูคล้ายนิยายใช่ไหม … แต่ดูเหมือนว่ามันจะเป็นเรื่องเศร้าได้เหมือนกัน” แลร์รี่ เมอร์ชานต์ เกริ่นนำ ก่อนที่หลังจากนั้นไม่กี่วินาที ดักลาส ก็เผยให้เห็นถึงน้ำตาลูกผู้ชาย น้ำตานั้นประกอบด้วยชัยชนะส่วนหนึ่งแต่เป็นแค่ส่วนเล็กๆ เท่านั้น เพราะส่วนประกอบสำคัญของมันคือ “ไฟต์นี้คือสิ่งที่เขาจะส่งให้แม่ของเขาบนสวรรค์”

“ลูล่า เพิร์ล ดักลาส” คือชื่อแม่ของ เจมส์ “บัสเตอร์” ดักลาส แชมป์โลก 3 สถาบันคนใหม่ และเธอเพิ่งจากไปด้วยโรคหลอดเลือดในสมอง ก่อนการชกระหว่างลูกชายของเธอกับ ไมค์ ไทสัน ไม่กี่สัปดาห์เท่านั้น

นั่นแหละคือเหตุผลที่ว่าทำไม บัสเตอร์ ดักลาส ไม่ยอมร่วง … ถึงร่วงก็ไม่ยอมแพ้ แม่คือคนสำคัญในชีวิตของเขา ดังนั้นเขาจะแพ้ไม่ได้

“พลังงานจากแม่ไหลเวียน มันคือแรงจูงใจที่พุ่งพล่าน จนกระทั่งตอนที่เขา (โฆษก) ถามถึงเรื่องแม่เท่านั้น ทุกอย่างที่พยายามกลั้นไว้ก็พังทลายทันที” 

ชนะแม้กระทั่งหลังชก

ผู้แพ้อย่าง ไทสัน กลับห้องพักอย่างไม่สบอารมณ์ ไม่มีสาวใช้ ไม่มีโสเภณี และไม่มีแม้กระทั่งเข็มขัดแชมป์ เขากล่าวอ้างว่าหนนี้เขาถูกปล้นและไม่เชื่อว่าตัวเองจะเป็นฝ่ายแพ้

Boxing-58

“ผมรู้ว่าพระเจ้าไม่มีทางเลือกเจ้าสัตว์ตัวเล็กๆ พวกนี้หรอก มีแต่สัตว์ใหญ่เท่านั้นที่ควรได้อยู่เคียงข้างบัลลังก์ของพระเจ้า เหตุผลที่ผมแพ้อาจจะเพราะว่าผมเป็นสัตว์ที่ตัวใหญ่เกินไป เกินไปจนกระทั่งพระเจ้ายังอิจฉา” ไทสัน เปรียบเปรยการต่อสู้ครั้งดังกล่าว

อย่างไรก็ตามทุกคนไม่ได้ให้ความสำคัญกับ ไทสัน มากนัก สตอรี่ของ ดักลาส ต่างหากที่น่าฟังมากกว่า โลกเริ่มอยากรู้จักเขาขึ้นมาบ้างแล้ว หลายคนถามว่า “การเสียชีวิตของแม่ส่งพลังให้คุณแบบไหน?” ซึ่ง ดักลาส ตอบได้อย่างไม่ลังเลเลยว่า “มากอย่างที่สุด”

“วันหนึ่งผมร้องไห้กลับมาที่บ้าน แม่ถามว่า ‘เกิดอะไรขึ้น’ ผมเลยตอบว่า ‘มีเด็กมันกระโดดขึ้นตัวมาต่อยผม’ เท่านั้นแหละ แม่ของผมเหวี่ยงผมลงกับพื้น จากนั้นเธอเอาเข่ามากดที่หน้าอกของผมและบอกว่า ‘จำไว้ เจมส์ ถ้าแกยังปล่อยให้ไอ้เด็กพวกนั้นรังแกแล้วไม่ยอมสวนพวกมันกลับบ้าง แกก็ต้องมาสู้กับแม่แบบนี้แหละ'” เขาเริ่มเผยความหลัง

เธอไม่ได้โหดกับลูกชาย เธอไม่ใช่แม่ใจยักษ์ เธอแค่อยากสอนให้ ดักลาส สู้เพื่อตัวเองบ้าง เพราะช่วง 10-11 ขวบ เขามักจะโดนเพื่อนแกล้งเป็นประจำ และการยื่นคำขาดนั้นทำให้ ดักลาส เริ่มกำหมัดเป็นครั้งแรก เขาใช้มันเพื่อป้องกันตัวในวัยเด็ก และใช้มันคว้าแชมป์โลกในวัย 30 ปี 

“แม่คือชีวิตของผม เธอเสียชีวิตไป 3 สัปดาห์ก่อนที่ผมจะชกกับ ไทสัน นั่นคือเหตุผลที่วันนั้นทำไมผมจึงพีกที่สุด เก่งที่สุด และทำได้ดีที่สุดในฐานะนักมวยคนหนึ่ง ผมไม่สามารถขออะไรได้มากกว่านี้แล้ว นี่คือสิ่งที่ผมอยากให้ทุกคนจดจำผม ได้มองมาที่ผม ว่าผมคือสุภาพบุรุษที่เชื่อมั่นในตัวเอง ผมอ่อนน้อมถ่อมตนทุกครั้งที่มีโอกาส และผมจะใช้สิ่งที่ผมมีให้เป็นประโยชน์”

ก่อนที่ ลูล่า จะจากไป 1 สัปดาห์ เธอเดินทางมาเยี่ยม ดักลาส ขณะที่ตัวของเธอเองป่วยหนักอยู่ แต่ก็ยังรวบรวมพลังทั้งหมดเพื่อมาเห็นหน้าลูกชายและส่งพลังทั้งหมดที่มีทั้งหมดให้กับ บัสเตอร์ ดักลาส สำหรับไฟต์เปลี่ยนชีวิต …

“แม่อายุ 46 ผมอายุ 29 มันยากนะที่จะยอมรับและหาทางไปต่อกับชีวิต แต่ในทางเดียวกันมันทำให้ผมกลายเป็นลูกผู้ชายที่แข็งแกร่งขึ้นหลายเท่าเหมือนกัน … เชื่อไหมผมไม่เคยสงสัยในตัวเองเลยหลังจากนั้น ผมมั่นใจในทุกการฝึกซ้อม ผมนับวันรอที่จะได้ชกกับ ไมค์ ผมกลัวอย่างเดียวว่าเขาจะได้รับบาดเจ็บจนไฟต์ต้องเลื่อนไป ผมกระสับกระส่ายเฝ้ารอให้ถึงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน” … และเขาก็ไม่เสียแรงรอในท้ายที่สุด

ดักลาส หอบเข็มขัดแชมป์โลกกลับ โคลัมบัส บ้านเกิด โดยมีคนมารอรับกันอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง

“ไม่รู้สิ … ระหว่างอยู่บริเวณรันเวย์ผมถามครอบครัวผมนะ คนพวกนี้มารอใครกัน? และสุดท้ายผมก็ได้รู้ว่าพวกเขามารอผมนี่แหละ” เขายิ้ม 

Boxing-59

ทุกอย่างเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วหลังจาก ดักลาส แย่งเข็มขัดแชมป์มาได้ โลกของมวยรุ่นเฮฟวี่เวตก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป … ไมค์ ไทสัน หลุดฟอร์มเละเทะแถมยังมีเรื่องติดคุกติดตาราง ขณะที่เข็มขัดแชมป์โลกก็หมุนเวียนเปลี่ยนเจ้าของไปมากหน้าหลายตา

แม้ว่า เจมส์ “บัสเตอร์” ดักลาส จะเป็นแค่คนหนึ่งที่เคยถือเข็มขัดแชมป์โลก 3 เส้น แต่อย่างน้อยๆ เรื่องราวในวันที่เขาคว้ามันมาครองได้ก็เป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่และกลายเป็นตำนานของโลกแห่งหมัดมวยจนถึงทุกวันนี้ 

1% สุดท้าย คือที่ว่างสำหรับ ‘มวยสากล’เลเวล1..

Boxing-43

ถ้าทุกท่านกำลังอยู่ในฐานะผู้ปกครองของเด็กผู้ชายอายุ 7 ขวบคนหนึ่ง คุณอยากให้เค้าเล่นกีฬาประเภทใดครับ?

ประมาณ 70% อยากให้ลูกเป็นนักฟุตบอล

อีก 29% อยากให้ลูกเล่นกีฬาประเภทอื่นๆ เช่น วอลเลย์บอล ว่ายน้ำ บาสเกตบอลและกีฬาประเภทอื่นๆ

ส่วน 1% สุดท้าย คือที่ว่างสำหรับ ‘มวยสากล’

Boxing-44

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลข้างต้น เป็นเพียงการสนทนากับเพื่อนร่วมออฟฟิศของผู้เขียน ซึ่งคู่สนทนาส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มชนชั้นกลาง มิได้ครอบคลุมกลุ่มคนทุกชนชั้นในสังคม จึงไม่ใช่ผลงานการเขียนที่ถูกต้องสมบูรณ์แต่อย่างใด

แต่ด้วยค่านิยมในปัจจุบัน คงไม่มีใครเต็มใจให้บุตรหลานไปเล่นกีฬาที่ต้องเจ็บตัวอย่างนั้นเท่าไหร่ อีกทั้งเรื่องของรายได้และความเป็นที่นิยมของมวย ก็มิได้ดึงดูดเด็กรุ่นใหม่ให้ยอมพลีกายให้แต่อย่างใด

ที่สุดแล้ว ในวันที่ถนนโล่งเมื่อเขาทรายขึ้นชกมวยเมื่อวันวาน ก็ถูกกาลเวลาผันเปลี่ยนเป็น แชมป์โลก 2 คนที่ไม่ค่อยถูกพูดถึงเท่าใดในปัจจุบัน

ตามที่สังเกตุในปัจจุบัน นักกีฬามวยสากลอาชีพบ้านเรามีจำนวนลดลงมากพอสมควร อีกทั้งนักมวยความหวังระดับแชมป์โลกก็ยังแทบจะไม่มีให้เห็นเท่าไรนัก นั่นอาจเป็นสาเหตุหนึ่งของการเสื่อมความนิยมของมวยสากล ซึ่งเหตุผลเกิดจากปัจจัยใดบ้าง ผมว่าทุกท่านคงจะมีคำตอบในใจและผ่านการเสวนาในประเด็นดังกล่าวกันอย่างถึงพริกถึงขิงแล้วในหลายๆครั้ง ซึ่งเราคงจะไม่พูดถึงประเด็นดังกล่าวในบทความนี้

Boxing-45

ดังนั้น บทความนี้ขอเสนอนักมวยสากลอาชีพชาวไทยที่ยังชกอยู่ในปัจจุบันในแต่ละรุ่น ใครเป็นใครและมีเป้าหมายอันใดกันบ้าง เชิญติดตามได้ด้านล่างครับ

รุ่น มินิมั่มเวต 105 ปอนด์

ด้วยสรีระที่ค่อนข้างเล็กกว่าประชากรของทวีปอื่น นี่จึงเป็นพิกัดน้ำหนักที่เป็นที่นิยมของนักมวยชาวไทยและมีนักมวยระดับแชมป์โลกมากมายในพิกัดน้ำหนักนี้ ตามข้อมูลและสถิติที่มีบันทึกไว้ มีนักมวยชาวไทยไม่น้อยกว่า 214 คนที่เคยชกในรุ่นนี้ แต่ปัจจุบันคงเหลือนักมวยไม่ถึง 10 คนในพิกัด แต่อย่างไรก็ตาม แชมป์โลก 2 คนที่สยามประเทศมีในปัจจุบัน คือนักมวยในพิกัดนี้ นั่นก็ได้แก่ วันเฮง มีนะโยธิน และ น็อคเอาท์ ซีพีเฟรชมาร์ท ซึ่งถือว่าเป็น 2 นักชกที่ดีที่สุดในโลกของรุ่นนี้ด้วย

Boxing-46

ทางด้านนักมวยรายอื่นๆ เราแทบไม่เห็นดาวรุ่งที่พอจะฝากความหวังได้ในอนาคตเลย นักมวยที่พอจะมีชื่อเสียงอีกคนก็คือ ไก่ชน ส.วรพิน ที่กลายสภาพเป็นมวยเดินสายและมีสถิติการชกแพ้น็อคมา 10 ไฟต์รวดในช่วงหลัง

รุ่น ไลท์ฟลายเวท 108 ปอนด์

สมาน ส.จาตุรงค์ คือนักมวยที่โด่งดังและสร้างแรงบันดาลใจมากมายให้กับบุคคลทุกวงการนับตั้งแต่การพลิกนรกชนะน็อคฮุมเบอร์โต กอนซาเลซ ซึ่งในปัจจุบัน ถึงแม้เราจะไม่มีแชมป์โลกในพิกัดรุ่นนี้ หากแต่ดาวรุ่งที่กลายเป็นมวยสร้างของญี่ปุ่นอย่าง เพชรโกศล กรีนซือดะ เจ้าของฉายา ศรีสะเกษ 2 ก็ยังเป็นความหวังแชมป์โลก ที่แฟนมวยชาวไทยกำลังจับตามองและตามลุ้นอยู่เช่นกัน

แสงมณี ซบ “วัน แชมเปียนชิพ” โกอินเตอร์ระดับโลก !!

แสงมณี แสงมณียิม ยอดมวยไทยชื่อดัง หลังจากเพิ่งเอาชนะ ยอดพนมรุ้ง จิตรเมืองนนท์ ที่เวทีมวยราชดำเนิน เมื่อคืนวันพฤหัสฯ 12 ก.ย.62 รุ่งขึ้นเปิดตัวตบเท้าเข้าร่วมสังกัดใหญ่ วัน แชมเปี้ยนชิพ (ONE CHAMPIONSHIP) โปรโมชั่นใหญ่ระดับโลก เป็นที่เรียบร้อย

“เจ้าบอล” แสงมณี ส.เทียนโพธิ์ เดิม หรือ แสงมณีเสถียรมวยไทยยิม ซุปตาร์ดาวรุ่งมวยไทยแห่งยุค มีชื่อจริง “พงศกร สิทธิเดช” เซ็นสัญญาเข้าร่วมสังกัดของ วัน แชมเปียนชิพ เตรียมอาละวาดประกาศฝีมือเชิงมวยไทยในพิกัด 65.8 กก. เพื่อหวังโกอินเตอร์เติมความท้าทายให้ชีวิตในเวทีระดับโลก

Boxing-40

แสงมณี อดีตฉายา “ขวัญใจนักเรียน” พร้อมก้าวสู่เส้นทางยิ่งใหญ่ ด้วยฉายา “ทารกเงินล้าน” (The Million Dollar Baby) ล่าสุดอายุ 22 ปี พื้นเพชาว อ.มัญจาคีรี จ.ขอนแก่น มีเงินเก็บหลักล้านตั้งแต่อายุเพียง 10 ขวบ จากมวยเด็กค่าตัว 200 บาท หลังเทิร์นโปรเมื่ออายุ 6 ขวบ เดินตามรอยบิดา พร้อมพรสวรรค์ทางสายเลือดจากผู้พ่อ “นายหนูกัน สิทธิเดช” อดีตนักมวยไทย

เข้าทำนอง “เก่งเลือกได้” ปัจจุบัน แสงมณี เป็นนายตัวเองเป็นเจ้าของค่ายมวย “แสงมณีเสถียรมวยไทยยิม” ย่านท้ายซอย รามคำแหง 52 แต่กว่าจะเดินทางมาถึงจุดนี้ ต้องยอมรับว่าแม้วัยเพียง 22 ปี แต่เขาผ่านอะไรมามากมายในวงการมวยไทย ทำให้ผู้เป็นพ่อ “นายหนูกัน” ที่ยอมรับว่าตนเรียนหนังสือมาน้อย ก้าวเข้ามาทำหน้าที่กำกับดูแล และปกป้องผลประโยชน์ แสงมณี จึงเป็นนักมวยเพียงไม่กี่คน หรือแทบจะนับคนได้ ในประเทศนี้ ที่สามารถชกต่างศึกต่างสายได้ด้วยการตัดสินใจของตัวเอง

Boxing-41

วันนี้ “ทารกเงินล้าน” ดีกรีแชมป์เวทีมวยมาตรฐานลุมพินี และ ราชดำเนิน รวม 4 รุ่น ,นักมวยถ้วยพระราชทานฯ ปี 2555 ซึ่งคว้ามาได้ด้วยวัยเพียง 15 ปีในขณะนั้น ถือเป็นนักชกผู้มีไอคิวบนสังเวียนสูงสุดคนหนึ่งของประเทศ ไต่เต้าค่าตัวจาก 200 บาทสู่ 250,000 บาทต่อไฟต์ในปัจจุบัน ซึ่งยังไม่รวมถึงค่าตัวจากการชกต่างประเทศที่เคยได้รับมากกว่านี้

การตัดสินใจเข้ามาร่วมงานกับ วัน แชมเปียนชิพ จึงเป็นการพลิกชีวิตครั้งใหญ่ แม้จะเป็นการเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่กับองค์กรระดับโลกแห่งนี้ แต่มันก็คุ้มค่ากับการได้มีโอกาสพิสูจน์ฝีมือ และศักยภาพของตนเองในระดับสากล

“The Million Dollar Baby” แสงมณี แสงมณีเสถียรมวยไทยยิม นักชกฝีมือขั้นเทพผู้ไม่เอาเปรียบคนดู จะทุ่มสุดตัวให้สมกับโอกาสที่เขาได้รับ เพื่อตอกย้ำให้ผู้ชม 140 ประเทศทั่วโลกที่ติดตามรายการ วัน แชมเปียนชิพ ได้รู้ว่า “ไทยแลนด์” ยืนหนึ่งเรื่องหมัดมวย

Boxing-42

เขาผู้นี้จะสร้างความตื่นเต้นเร้าใจบนสังเวียนผืนผ้าใบระดับโลกและสร้างความภาคภูมิใจให้กับประเทศในฐานะตัวแทนจากดินแดนขวานทอง

ร้อน..รถถัง-เสกสรร 2

Boxing-39

รถถัง จิตรเมืองนนท์ อาศัยจังหวะต่อยหมัดเข้าเต็มหน้า เสกสรร อ.ขวัญเมือง จนออกอาการเมายก4 ก่อนคุมเกมเอาชนะไปแบบสนุกดุเดือด เรียกเสียงปรบมือจากแฟนมวยได้ทั้งเวที ในศึกจิตรเมืองนนท์ผ่านมา ล้างภาพเดิมของรถถัง ที่แฟนมวยบางส่วนไม่พอใจในฟอร์มครั้งแรกที่เจอกันมา ก่อนการชก รถถัง จิตรเมืองนนท์ (แดง) -เสกสรร อ.ขวัญเมือง (น้ำเงิน) ในพิกัด 134 ปอนด์ สถิติ รถถัง เคยชนะ 1 ครั้ง เรต เสกสรร เสมอ..

นวพลมาแรง แหลม-เอส ยังไม่แน่ WBC ชี้ชัด..??

สภามวยโลก wbc คลอดอันดับโลกเดือนกันยายนแล้ว นักชกไทยพาเหรดติดอันดับถึง 15 คน ”เจ้าแหลม” ศรีสะเกษ นครหลวงโปรโมชั่น รั้งอันดับ 1 รุ่นซูเปอร์ฟลายเวตเหนียวแน่น และ นวพล นครหลวงโปรโมชั่น พุ่งอันดับ 3 รุ่นแบนตั้มเวต มีลุ้นขึ้นเบอร์ 1 ชายน้อย วรวุฒิ เข้าอันดับ 122 ป. เรียบร้อย

Boxing-37

สภามวยโลก wbc ประกาศอันดับเดือน กันยายน 2562 แล้ว โดยมีนักมวยไทยติดอันดับ 15 รายด้วยกัน ดังรายละเอียดต่อไปนี้รุ่นมินิมั่มเวต : วันเฮง ซีพีเอฟ แชมป์โลก, สะท้านเมืองเล็ก ซีพีเอฟ อันดับ 12” รุ่นไลต์ฟลายเวต พงษ์ศักดิ์เล็ก นครหลวงโปรโมชั่น อันดับ 22, คมพยัคฆ์ ชินจิ โดโจ อันดับ 24 ”รุ่นฟลายเวต
นกน้อย ซีพีเอฟ อันดับ 7, เพชรมณี ซีพีเอฟ อันดับ 18

ในรุ่นซูเปอร์ฟลายเวต ศรีสะเกษ นครหลวงโปรโมชั่น อดีตแชมป์โลก 2 สมัย ยังรั้งอันดับ 1 อย่างเหนียวแน่น จ่อชิงไฟต์บังคับกับ ฮวน ฟรานซิสโก้ เอสตราด้า คู่ปรับเก่าเจ้าของแชมป์โลก ซึ่งจะไปฟังคำตัดสินของ wbc ในที่ประชุมใหญ่เดือนหน้าที่เม็กซิโก ส่วนนักชกไทยรายอื่นๆ ในรุ่นนี้มี อันดับ 21 ยอดมงคล ซีพีเอฟ และอันดับ 29 เพชรบางบอน ศิษย์หมอวิวัฒน์

Boxing-38

ส่วนในรุ่นอื่นๆ ยังมีรุ่นแบนตั้มเวต นวพล นครหลวงโปรโมชั่น อันดับ 3 ซึ่งมีโอกาสขึ้นอันดับ 1 หลังชกวันที่ 21 กันยายนนี้, เพชร ซีพีเอฟ อันดับ 7, อำนาจ รื่นเริง อันดับ 39 ”ซูเปอร์แบนตั้มเวตก้องฟ้า ซีพีเอฟ อันดับ 28 ตามติดด้วย ชายน้อย วรวุฒิ นักชกดาวรุ่งเบอร์ 1 ของไทยในตอนนี้ รั้งอันดับ 29 และรุ่นไลต์เวต อันดับ 34 อภิเชษฐ์ เพชรมณี ตบท้ายด้วยรุ่นใหญ่สุดรุ่นเวลเตอร์เวต นิค เฟรเซอร์ เข้าอันดับที่ 36

รวบรวมข่าวสาร วงการมวยสากล จากทั่วทุกมุมโลก !!